WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)
December 26, 2008
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

2. การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategy and Tactics)

หลังจากที่วางรากฐานระบบการหาความรู้แบบวิพากษ์สร้างสรรค์แล้ว เราจะยกระดับไปสู่การเรียนรู้ในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งชนชาติที่ล้ำเลิศที่สุดก็คือ “จีน” ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ลองดูแผนที่ประเทศจีน คุณจะรู้ว่ามันมีภูมิประเทศแตกต่างกันมาก การเข้ายึด การโจมตี การวางกำลัง ณ จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งหมด ล้วนเอื้อต่อการขบคิดเชิงกลยุทธ์ เพราะฉะนั้น คนจีนจะเก่งค้านนี้ คนจีนทำมาหากิน เอาตัวรอดได้เสมอ สร้างเนื้อสร้างตัวอะไรต่างๆมากมาย แต่มันจะเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวในเชิงกลยุทธ์มากกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Creative) แต่ในอนาคตจะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างล้วนถูกสร้างไว้หมดแล้ว คุณต้องครีเอทของใหม่

ขณะเดียวกัน การที่อารยธรรมกรีก ซึ่งเป็นชาติที่ถนัดในการคิดสร้างสรรค์นั้น กลับขาดความจัดเจนในด้านกลยุทธ์ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมนี้ต้องล่มสลายไปในที่สุด ดังนั้น ทั้งความฉลาดเชิงการวิพากษ์สร้างสรรค์ และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

3. การคิดเชิงประโยชน์ใช้สอยและผลกำไร (Utility and Profitability)

ในอนาคต ลำพังความฉลาดสร้างสรรค์และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ ยังอาจไม่เพียงพอ เรายังต้องรู้จักการดัดแปลงความฉลาดทั้งสองด้านให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้จริง(Utility)ไม่ใช่สร้างแต่สิ่งสูงส่งเลอเลิศ แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของมวลมนุษยชาติ และในด้านความฉลาดเชิงประโยชน์ใช้สอยนั้น คงไม่มีชาติใดโดดเด่นเท่าเทียม “อเมริกา” ซึ่งมีจุดเด่นในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ อเมริกาเป็นชาติที่มีธุรกิจแหวกแนวล้ำสมัย และยังเจริญเติบโตรุ่งเรืองอีกด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ Google, eBay, Microsoft รวมไปถึง Starbucks ธุรกิจเก่าที่เอามาทำให้ใหม่

สำหรับคำว่า Profitability นั้น คนไทยโดยมากก็จะมองในด้านลบ เช่นเดียวกับคำว่า Debate and Discussion ตามที่เราได้อธิบายอย่างละเอียดไปในตอนต้นแล้ว ความจริงแล้วคำนี้มีประโยชน์มาก เพราะคนที่ขาดความเจนจัดในชีวิต มักจะมองเพียงผิวเผินว่า ขอเพียงสร้างของดีมีคุณค่า ก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่ในโลกความจริงนั้น ของดีมีคุณค่า แต่ไม่สามารถสร้างผลกำไรหรือ Profitability ได้ ย่อมจะไม่ยั่งยืน สินค้าที่ดีเลิศจำนวนมาก ต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย ก็เพราะขาดการคิดในเชิง Profitability เราต้องไม่ลืมว่า โลกใบนี้คือโลกแห่งการพัฒนา (Evolution World) แต่หากธุรกิจหรือสินค้านั้นไม่มีทรัพยากรสนับสนุน ไม่มีกำไรจากการดำเนินงานมาหล่อเลี้ยง การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในที่สุด สินค้าและบริการนั้น ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย และถูกคู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไป

Profitability จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะกำไรจากการดำเนินงาน คือ ทรัพยากรที่จะนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ตลอดเวลา แต่การที่ Profitability ในเมืองไทย ถูกประเมินแต่ด้านลบ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ ไม่นำผลกำไรมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อย่างมากก็นำไปขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิต หรือนำไปใช้สร้างธุรกิจใหม่ มีส่วนน้อยมากที่จะนำเงินกำไรนี้มา “วิจัยและพัฒนา” เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรโลกได้มากยิ่งขึ้น

วัยรุ่นที่จิตใจร้อนแรง ยังมีประสบการณ์บนโลกไม่มากนัก จะต้องถูกฝึกฝนให้เข้าใจในจุดนี้ แน่นอนว่า การสร้างของดีมีคุณค่า (Value) ย่อมเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญ แต่หากสิ่งที่มีคุณค่านั้นไม่อาจตอบสนองความต้องการของสังคม (Utility) สิ่งนั้นยังไม่นับว่าดีถึงที่สุด แน่นอนว่า หลายครั้ง สังคมก็อาจตัดสินประเมินค่าสรรพสิ่งอย่างผิดพลาด จนทำให้ของดีมีคุณค่า (Value) ถูกละเลยทอดทิ้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่ผลิตภัณฑ์ซึ่งเราคิดว่ามีคุณค่า Value กลับได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาและบริบทสังคมว่า ยังไม่มีคุณค่าที่เพียงพอ ดังนั้น การตรวจสอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ย่อมต้องอาศัย Utility เป็นตัวทดสอบเบื้องต้น แน่นอนว่า หากเราเชื่อมั่นใน Value ของผลิตภัณฑ์ ย่อมสามารถยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ และในยุคคลื่นลูกที่ 3 ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ย่อมได้รับการประเมินค่าใหม่ (Revalue) อย่างรวดเร็วแน่นอน

ในโลกที่สลับซับซ้อนนั้น บางครั้งการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ(Utility) ได้สำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองด้านผลกำไรจากมนุษยชาติ (Profitability) นับเป็นกรณีที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ บางครั้งอาจเป็นได้ว่า สินค้าชนิดนี้แม้ว่าจะสร้างรายได้มหาศาล แต่กลับมีต้นทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจเกิดจากความสามารถในการสนับสนุนของลูกค้าเป้าหมายมีกำลังไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดย่อมนำมาซึ่งความสั่นคลอนของผลิตภัณฑ์ในระยะยาว รวมถึงการนำผลกำไรกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภายหลัง

Profitability จึงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี บางครั้ง การเน้นสร้างแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า Value มากเกินไป ได้กลับเป็นภัยต่อมนุษยชาติ เพราะผลิตภัณฑ์นั้นสิ้นเปลื้องทรัพยากรของโลกไปสร้างขึ้นมา แต่กลับไม่อาจตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ (Utility) ได้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป เช่นเดียวกัน การเน้นแต่ประโยชน์ใช้สอยมากเกินไป (Utility) ย่อมอาจสร้างความเสียหายต่อโลกได้ เพราะลืมนึกถึง “ต้นทุน” ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การคิดถึงแต่ Profitability มากเกินไป ก็อาจทำให้เราละเลยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งบางครั้งอาจยังไม่ได้รับความนิยมจากสังคมในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกำไร (Profit) และ ประโยชน์ใช้สอย (Utility) ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล

4. การทำงานด้วยความสุข (Happiness of Work)

ความร่ำรวยแบบอเมริกานั้น ไม่อาจได้มาโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน มหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์ ทำงานหนักกว่าเราเสียอีก วันหนึ่งอาจจะ 16-18 ชั่วโมง แต่ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้ต้องการความร่ำรวยในรูปแบบนี้ ผมจึงปรับภูมิปัญญาทั้งหมดให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย โดยพยายามผสานภูมิปัญญาไทยเข้าไปผสมด้วยอย่างลงตัว

คนไทยนั้น แม้ไม่ได้ทำงานหนักเคร่งเครียดแบบคนอเมริกัน แต่เราก็ยังอยู่รอดและสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่ร่ำรวยเลอเลิศ แต่ก็มีชิวิตสะดวกสบายและมีความสุข

ภูมิปัญญาสี่แบบของสี่ประเทศนี้ ผมจะนำมาสรุปสังเคราะห์ใน Wisdom House และเชื่อว่าภูมิปัญญาเช่นนี้ ยังไม่เคยมีสถาบันใดได้เคยสร้างสรรค์มาก่อน สำหรับ มหาวิทยาลัยในยุโรป ผมก็คิดว่าจะเน้นไปที่ข้อ 1 คือ การวิพากษ์สร้างสรรค์แบบกรีก-โรมัน ถ้าเป็นอเมริกาก็เป็นเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ส่วนเรื่องกลยุทธเลิศล้ำของชาวจีนก็เพิ่งผนวกเข้ามาเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แม้กระนั้น ผมยังประเมินว่าพวกเขายังทำได้ไม่ถึงแก่น เช่นเดียวกัน ความสะดวกสบายรื่นเริงแบบคนไทย ไม่เคร่งเครียดจริงจังกับชีวิตจนเสียสมดุล ตรงนี้ผมคิดว่าฝรั่งอาจจะขาดแคลนไป

ยิ่งกว่านั้น ผมก็คิดว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แม้แต่ในอเมริกา ยังคงไม่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการ ผมคิดว่ายังขาดส่วนเสี้ยวสำคัญบางประการไป อาจจะเพราะว่าอาจารย์ที่มาสอน ส่วนใหญ่เป็นแต่อาจารย์แท้ๆ ไม่ได้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ขณะเดียวกัน การประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคม เข้าใจประวัติศาสตร์และความเป็นมา ผมคิดว่าบทเรียนทางประวัติศาสตร์มีผลมากต่อการวิเคราะห์อนาคต แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญในส่วนนี้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือบริบทสังคม เพื่อตัวมันเอง ไม่ได้ศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้

Wisdom Houseรวบรวมภูมิปัญญาทั้งหมด ประสานจุดเด่นของภูมิปัญญาโลกเข้าด้วยกันแล้วสังเคราะห์มาให้ท่าน แต่สุดท้ายท่านจะต้องประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถมาป้อนให้ท่านทุกที่ทุกเวลา แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำจะสามารถป้อนให้ท่านได้ถึง 70% ส่วนอีก 30% ให้ท่านเสริมเข้าไปเอง สิ่งที่ผมใส่เข้าไปให้นั้น จะเสริมความแข็งแกร่งอุดช่องโหว่ให้ท่าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ลูกอาเสี่ย” ถ้ารอให้อาเสี่ยตาย ถึงแม้จะสร้างทีมงานไว้ให้เจ้าสัวน้อยเรียบร้อยแล้วแต่สุดท้ายก็ตามสูตรเลย เจ้าสัวน้อยจะเขี่ยคนเก่งๆนั้นทิ้งไป แล้วเอาคนไม่เก่งแต่ขี้ประจบเข้ามาแทน

ถ้าเราสอนให้เจ้าสัวน้อยคิดเองเป็น หากอาเสี่ยตายไปก่อนที่ยังไม่ได้สร้างทีมไว้ให้เลย เจ้าสัวน้อยยังสามารถหาคนเก่งเข้ามาเสริมได้เอง นี่ผมคิดยาวไกลมากเลย ไม่ได้มองแค่คนที่กำลังสร้างตัวเท่านั้น แต่เลยไปถึงคนที่พยายามรักษาสถานะความสำเร็จไว้ “ก้าวเป็นที่หนึ่งนั้นยาก แต่รักษาความเป็นที่หนึ่งกลับยากยิ่งกว่า”

ยิ่งกว่านั้นคือ ในสภาวะที่จิตใจและสังคมเข้าสู่ภาวะคลื่นลูกที่สี่นั้น คนเราจะมีภาวะสับสนในจิตใจ บางทีมีเงิน แต่กลับเต็มไปด้วยทุกข์ มีเงินแต่รู้สึกชีวิตอ้างว้างโดดเดี่ยว เราจะสอนวิธีคิดที่เข้าใจความหมายของชีวิตแบบล้ำลึก แต่ไม่เพ้อฝัน ไม่ใช่พูดแต่เรื่องดีๆ เราจะสอนแก่นแท้แห่งความเป็นจริง

นี่คือ Wisdom House ที่ผมพยายามพัฒนาขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น: