WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

รูปแบบการสอนใหม่ : การปรับกลยุทธ์การบริหารงานวิชาการ

รูปแบบการสอนใหม่ : การปรับกลยุทธ์การบริหารงานวิชาการ
เรียบเรียงโดย
นายพงกะพรรณ ตะกลมทอง
นายขจรเกียรติ มานิกลักษณ์
Mr.Intong Leusinsay
Ms.Sisouk Vongvichit
ความหมายการบริหารงานวิชาการ
การบริหารงานวิชาการเป็นงานที่สำคัญสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นงานที่จะต้องปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของสถานศึกษาและเป็นเครื่องชี้ความสำเร็จ และความสามารถของผู้บริหาร
การบริหารงานวิชาการ หมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกชนิดในสถานศึกษา หรือโรงเรียนเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาทุกแห่ง คือ การให้ความรู้ทางด้านวิชาการแก่ผู้เรียน(ภิญโญ สาธร,2526: 324) การบริหารกิจกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวกับการพัฒนา และปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพที่สุด หรือการบริหารที่ให้พลเมืองมีความรู้ มีคุณธรรม สามารถประกอบสัมมาอาชีพ ดำรงตนเป็นพลเมืองดี ช่วยกันพัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป(อุทัย ธรรมเตโช,2531: 6) การบริหารวิชาการ
ประกอบด้วยงานหลายอย่าง สิ่งสำคัญของงานด้านวิชาการ คือ หลักสูตรเป็นตัวกำกับงานด้าน
วิชาการ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำ ในการนำไปใช้ในแต่ละสถานศึกษาจึงแตกต่างกันไป การจัดโปรแกรมการศึกษาขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งผู้เรียนด้วย (สงวน สุทธิเลิศอรุณ,2533 : 133) การบริหารสถานศึกษาโดยมีการจัดกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปรับปรุง การพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ ,2535 : 16)

ความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ
งานวิชาการเป็นงานที่มีความสำคัญในการจัดระบบงานให้รัดกุม และมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น จึงมีนักการศึกษาได้ให้ความสำคัญของงานวิชาการไว้ดังนี้
งานวิชาการเป็นหัวใจของโรงเรียน เป็นชีวิตจิตใจของสถาบันทีเดียว ส่วนงานด้านอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้สถาบันดำเนินไปด้วยความราบรื่นเท่านั้น(พนัส หันนาคินทร์,2524 : 235)
ผู้บริหารการศึกษา ทุกคนควรจะรับผิดชอบเป็นผู้นำของครูในด้านวิชาการเป็นอันดับแรก เพราะหน้าที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกแห่ง คือ การให้ความรู้แก่นักเรียนในด้านวิชาการ โดยการทำงานร่วมกับครู กระตุ้นเตือนครูให้คำแนะนำครู และประสานงานให้ครูทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการสอน(ภิญโญ สาธร, 2526 : 232 ) งานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษา ไม่ว่าสถานศึกษาจะเป็นประเภทใด มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดโปรแกรมการศึกษา และการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหัวใจของสถานศึกษาซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อม ก็อยู่ที่ลักษณะของงานนั้น(ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์, 2535 : 15 )
สมิธ (Smith,1961) ได้ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญของงานวิชาการไว้เป็นอันดับแรกงานในความรับผิดชอบของผู้บริหารแบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้
งานบริหารงานวิชาการ ร้อยละ 40
งานบริหารบุคลากร ร้อยละ 20
งานบริหารกิจการนักเรียน ร้อยละ 20
งานบริหารการเงิน ร้อยละ 5
งานบริหารอาคารสถานที่ ร้อยละ 5
งานบริหารความสัมพันธ์กับชุมชน ร้อยละ 5
งานบริหารทั่วไป ร้อยละ 5
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า งานวิชาการถือว่าเป็นหัวใจของการบริหารการศึกษา เพราะจุดมุ่งหมายของสถานศึกษาก็คือ การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับงานวิชาการทั้งสิ้น งานวิชาการเป็นกิจกรรมการจัดการเกี่ยวกับงานด้านหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ แบบเรียน งานการเรียนการสอน งานสื่อการเรียนการสอน งานวัดผลและประเมินผล งานห้องสมุด งานนิเทศการศึกษา งานวางแผนการศึกษา และงานประชุมอบรมทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุจุดหมายของการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
จะเห็นได้ว่าการบริหารงานวิชาการนับเป็นงานที่สำคัญของโรงเรียน เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียน ถือเป็นหัวใจของการบริหารโรงเรียน โรงเรียนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับงานวิชาการของโรงเรียน ที่จะสร้างนักเรียนให้มีคุณภาพ มีความรู้ มีจริยธรรม และคุณสมบัติตามที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมต่อไปได้เป็นอย่างดี


ขอบข่ายของการบริหารงานวิชาการ
งานวิชาการมีขอบข่ายครอบคลุมเกี่ยวกับงานด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน ตั้งแต่การวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ การจัดดำเนินงาน เกี่ยวกับการเรียนการสอน การจัดบริการการสอน ตลอดจนการวัด และประเมินผล รวมทั้งติดตามผล และสื่อการสอนรวมไปถึงการพัฒนาผู้สอนตลอดจนการดำเนินกิจการของโรงเรียนจะต้องเป็นไปตามหลักสูตร และระเบียบพิธีการของการเรียนการสอน จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมทุกระยะ ด้วยการจัดเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย บางครั้งก็มีการเพิ่มวิชาใหม่ ๆ เข้าไปด้วยผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างแท้จริงนั้น เกิดจากการเรียนการสอน ดังนั้น เมื่อหลักสูตรเปลี่ยนก็จำเป็นต้องอบรมครูตามไปด้วย เพราะการใช้หลักสูตรในโรงเรียนจะมีส่วนเกี่ยวโยงไปถึงการจัดตารางสอน การจัดชั้นเรียน วิธีสอน การใช้อุปกรณ์การสอนและการประเมินผลด้วย (ก่อ สวัสดิพาณิชย์, 2535 : 83) ถ้ามองในด้านของงานสถานศึกษา การบริหารงานวิชาการ ได้แก่ งานควบคุมดูแลหลักสูตร การสอน อุปกรณ์การสอน การจัดการเรียน คู่มือครู การจัดชั้นเรียน การจัดครูเข้าสอน การปรับปรุงการเรียนการสอน การฝึกอบรมครู การนิเทศการศึกษา การเผยแพร่งานวิชาการ การวัดผลการศึกษา การศึกษาวิจัย การประเมินมาตรฐานสถานศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพ และประสิทธิภาพสถานศึกษา(ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ , 2535 : 59)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งานวิชาการเป็นงานที่มีขอบข่ายครอบคลุมหลายด้าน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนทุกด้าน ซึ่งสามารถสรุปขอบเขตของงานวิชาการได้ดังนี้ งานการจัดหลักสูตร งานการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน งานการใช้วิธีการสอน และการใช้สื่อการเรียนการสอน งานการวัดผลการเรียนการสอน และการนิเทศการสอน

หลักการบริหารงานวิชาการ
ในการบริหารงานวิชาการจะต้องมีหลักการและวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความ
คล่องตัวในการบริหาร ดังนั้นในหลักการเบื้องต้นของการบริหารจึงต้องมีข้อความชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ยึดหลักให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นไปตามกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง โดยมีครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม
2. มุ่งส่งเสริมสถานศึกษาให้จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด
3. มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นเครือข่ายและแหล่งการเรียนรู้
4. มุ่งจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยจัดให้มีดัชนีชี้วัดคุณภาพการจัดหลักสูตร
และกระบวนการเรียนรู้ และสามารถตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาได้ทุกช่วงชั้นทั้งระดับเขต
พื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
5. มุ่งส่งเสริมให้มีการร่วมมือเป็นเครือข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ขอบข่ายและภารกิจงานวิชาการ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงศึกษาธิการ
1. การพัฒนาหรือการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความเห็นการพัฒนาสาระ
หลักสูตรท้องถิ่น
2. การวางแผนงานด้านวิชาการ
3. การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา
4. การพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา
5. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้
6. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา
7. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา
8. การพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้
9. การนิเทศการศึกษา
10. การแนะแนว
11. การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา
12 การส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ
13. การประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาและองค์กรอื่น
14. การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร
หน่วยงาน สถานประกอบการและสถาบันอื่นที่จัดการศึกษา
15. การจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับงานด้านวิชาการของสถานศึกษา
16. การคัดเลือกหนังสือ แบบเรียนเพื่อใช้ในสถานศึกษา
17. การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา



การบริหารงานวิชาการ
ในการบริหารงานวิชาการจะต้องมีหลักการและวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความ
คล่องตัวในการบริหาร ดังนั้นในหลักการเบื้องต้นของการบริหารจึงต้องมีข้อความชัดเจน
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์(2535: 15) ได้กล่าวถึงหลักการในการบริหารงานวิชาการ
ไว้ดังนี้
1. หลักแห่งประสิทธิภาพ หมายถึง การได้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่เพิ่มการลงทุน
คือ นักเรียนนักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาตามกำหนดของหลักสูตร โดยไม่ลาออกกลางคัน
เรียนเกินเวลาและช้ากว่ากำหนด
2. หลักแห่งประสิทธิผล หมายถึง ผลผลิตได้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ นั่นคือ นักเรียน
นักศึกษามีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มีความรู้ความสามารถ ทักษะ คุณภาพ และ
การจัดการได้
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถดำเนินการบริหารงานวิชาการได้ตามภาระงาน
ที่กฎกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
ยกเว้นภาระงานดังต่อไปนี้ มิใช่อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่
1. การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา
2. การวัดผล ประเมินผล และดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน
3. การคัดเลือกหนังสือ แบบเรียนเพื่อใช้ในสถานศึกษา
ส่วนการบริหารงานวิชาการของสถานศึกษา สถานศึกษาประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สอง
ก็สามารถดำเนินการบริหารงานวิชาการได้ทุกรายการตามภาระงานที่กฎกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเช่นกัน

รูปแบบการสอนใหม่ : การปรับกลยุทธ์การบริหารงานวิชาการ
จุดมุ่งหมายการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้ดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้เป็นคนไทยที่มีคุณภาพ โครงการที่สำคัญคือโครงการครูต้นแบบในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีครูต้นแบบจำนวนทั้งสิ้น ๕๘๖ คน ครูเครือข่ายของครูต้นแบบจำนวน ๘,๘๔๘ คน รวมครูต้นแบบและครูเครือข่ายทั้งสิ้น ๙,๔๓๔ คน กลุ่มครูดังกล่าวได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ ครูกลุ่มนี้มีภารกิจสำคัญ คือพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ผลการดำเนินงานโครงการครูต้นแบบทำให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ด้านรูปแบบการเรียนสอนที่ได้จากการปฏิบัติของครู จำนวน ๑๕ รูปแบบ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำรูปแบบการเรียนรู้ของครูต้นแบบมาวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีความชัดเจนเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาสำนักงานฯ ได้คัดเลือกรูปแบบการเรียนรู้ จำนวน ๙ รูปแบบมาวิจัยและพัฒนา นำไปทดลองในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๙๐ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีความสอดคล้องกับมาตรา 22 การจัด
การศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาจามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 24 (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติ่ม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา ที่เน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด การฝึกทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย การฝึกปฏิบัติจริง และ
การประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการป้องกันและแก้ปัญหา โดยสำนักงานฯ สนับสนุนให้ครูต้นแบบ จำนวน
90 คน จากทุกภูมิภาควิจัยและพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้จากสถาบันครุศึกษา ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวพบว่า แนวทางการจัดการเรียนรู้ทั้ง 9 แนวทางสามารถใช้ได้ผลดีผลการเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง 9 แนวทางนี้ มิใช่เป็นแนวทางที่ตายตัว ผู้สอนสามารถปรับประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของตน ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้ผู้สอนพิจารณาเพื่อพัฒนาตามความถนัดและความสนใจ แต่ละแนวทางการจัดการเรียนรู้สามารถผสมผสานให้สอดคล้องกับบริบทของสาระการเรียนรู้ หรือสถานการณ์ในชั้นเรียนได้ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง 9 ดังกล่าว ข้างต้น ประกอบด้วย
1. การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
การใช้แหล่งเรียนรู้มีความสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนเพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากสภาพจริง การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ ธรรมชาติ หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งผู้เรียน ผู้สอนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือเรื่องที่สนใจได้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ชุมชนและธรรมชาติเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่เราสามารถค้นพบความรู้ได้ไม่จบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้มีดังนี้

1.1 ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นคว้าหารความรู้ด้วยตนเอง
1.2 ผู้เรียนผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะ
ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะกระบวนการต่าง ๆ
1.3 ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตการณ์เก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความและ การสรุปความ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
1.4 ผู้เรียนได้ประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง
1.5 ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้ได้
1.6 ผู้สอนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน
2. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการพหุปัญญา มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมดยงความสัมพันธ์ระหว่างสาระการเรียนรู้และความสามารถทางการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนตามทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งจำแนกไว้ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านวาจา / ภาษา / ด้านดนตรี / จังหวะ ด้านตรรกะ / คณิตศาสตร์ ด้านทัศนสัมพันธ์ / มิติสัมพันธ์ ด้านร่างกาย /การเคลื่อนไหว ด้านธรรมชาติ ด้านการรู้จักตนเอง และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมุ่นเน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแก้ปัญหารวมถึงการสร้างผลงานและเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
3. การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และที่เน้นการปฏิบัติ มีลักษณะเด่นดังนี้
3.1 ผู้เรียนได้มีโอกาสรับประสบการณ์ แล้วได้รับการกระตุ้นให้สะท้อนสิ่งต่าง ๆ ที่ได้
จากประสบการณ์ออกมาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เจตคติใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ
3.2 ใช้ทรัพยากรทั้ง 4 ด้าน คือ เวลา สถานที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสื่อการสอน เป็น
ตัวเชื่อมโยงให้ผู้เรียนก้าวสู่การเรียนรู้โลกรอบตัว
3.3 ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด ประสบการ ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ในเวลา
เดียวกัน จนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3.4 ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
4. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน มีลักษณะเด่นดังนี้
การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวีการต่าง ๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจขอตนเองหรือของกลุ่มเป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน
ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด ทั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจอยากรู้อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตาง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่งเรียนรู้เบื้องต้น ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนได้มาไม่จำเป็นต้องตรงกับตำรา แต่ผู้สอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จากแหล่งเรียนรู้ และปรับปรุงความรู้ที่ได้ให้สมบูรณ์
5. การเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเด่นดังนี้
5.1 ผู้เรียนมีความคิดที่อิสระ
5.2 ไม่มีรูปแบบตายตัว
5.3 ใช้ได้ทุกโอกาสทุกเวลา
5.4 ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
5.5 มีการบูรณาการในตัวเอง
5.6 มีความยืดหยุ่นคล่องตัวสูง
5.7 เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนหาคำตอบที่หลากหลาย
5.8 ชื่อรูปแบบมีนัยเชิงบวก ท้าทาย กระตือรือร้น
5.9 ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในการคิดที่สันติสุข
5.10 ผู้เรียนสร้างชิ้นงานผลงานสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่เป็นรูปธรรม
5.11 เชื่อมโยงความคิดที่เป็นระบบอย่างมีขั้นตอนจากง่ายไปยากและใกล้ตัว
ไปไกลตัว
5.12 นำไปจัดการเรียนรู้ได้กับทุกกลุ่มสาระและสามารถเชื่อมโยงได้กับรูปแบบการ
เรียนรู้อื่น ๆ
6. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้มีลักษณะเด่นคือ การให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและความสำคัญของความรู้ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงความรู้สร้างความรู้ด้วยตนเองผู้เรียนสังเกตสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้แล้วค้นคว้าแสวงหาความรู้เพิ่ม เชื่อมดยงกับความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม ผนวกกับความรู้ใหม่ จนสร้างสรรค์เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ กล่าวโดยสรุปเป็นการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง ค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง จนค้นพบความรู้และรู้จักสิ่งที่ค้นพบ เรียนรู้วิเคราะห์ต่อจนรู้จริง รู้ลึกซึ่งว่าสิ่งนั้นคืออะไรมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร การเรียนรู้แบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในการคิด พร้อมทั้งฝึกทักษะทางสังคมที่ดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
7. การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากปัญหา
ที่เกิดขึ้นโดยสร้างความรู้จากกระบวนการทำงานกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาหรือสถานการณ์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและมีความสำคัญต่อผู้เรียน ตัวปัญหาจะเป็นจัดตั้งต้นของกระบวนการเรียนรู้และเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลและการสืบค้นหาข้อมูลเพื่อเข้าใจกลไกของตัวปัญหาของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา การเรียนรู้แบบนี้ มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการสร้างองค์ความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีความหมายต่อผู้เรียน
8. การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นคือผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม มีชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อน ได้พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา และตระหนักรู้ในปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สามารถใช้ทักษะการคิดแก้ปัญหาที่พบ การจัดกรเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมากเพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาของชีวิตและมีความหมายต่อผู้เรียน ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเอง จากสถานการณ์หรือปัญหาที่น่าสนใจท้าทายให้คิดกระบวนการเรียนรู้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การจักการเรียนรู้ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น บทบาทสมมติ โครงงานการสืบสวย สอบสวน การศึกษานอกสถานที่ การเรียนรู้รูปแบบนี้จะกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น พร้อมกับการเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ สร้างนิสัยใฝ่รู้รักการค้นคว้าหาความรู้และฝึกนิสัยให้เป็นคนมีเหตุผล และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
9. การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม หมวกความคิด 6 ใบ
มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้คำถาม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาการคิดของผู้เรียน
ให้มีความสามารถด้านทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ จุดเน้นคือการกระตุ้นผู้เรียนให้สามารถคิดและตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ และคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง คำถามมีส่วนสำคัญที่จะจุดประกายให้ผู้เรียนฉุกคิด เกิดข้อสงสัย ใคร่รู้เพื่อแสวงหาคำตอบ และความรู้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การใช้คำถามจึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเป็น คิดได้ การใช้คำถามเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดมีหลากหลาย ในที่นี้จอนำเสนอการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ (Six Thinking Hats)
ลักษณะเด่นของการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ คือ การใช้ ’สีหมวก’ ได้แก่ หมวกสีขาว หมวกสีแง หมวกสีเหลือง หมวกสีดำ หมวกสีเขียว และหมวกสีฟ้า เป็นกรอบแนวทางในการตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบ ผู้เรียนสามารถค้นหาคำตอบจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างรอบด้าน แลได้แสดงบทบาทการคิดในแง่มุมตามสีของหมวก สีของหมวกแต่ละใบจะมีความหมายที่บอกให้ทราบว่าผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนคิดไปทางใด ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง หากท่านผู้อ่านบทความนี้มีความสนใจในรายละเอียดและเนื้อหาอย่างละเอียดของวิธีการสอนทั้ง 9 รูปแบบ ดังกล่าวข้างต้น สามารถสืบค้นได้จาก website สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ดังนี้
1. http://www.onec.go.th.
2. http://db.onec.go.th/publication/get_book.php?sub_book=3&name_sub=การเรียนรู้.


ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535) . การบริหารงานวิชาการ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหมิตรออฟเซท.
ภิญโญ สาธร (2523) . หลักการบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช.
สงวน สุทธิเลิศอรุณ (2535) . การบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรบัณฑิต.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2550). แนวทางการกระจายอำนาจการบริหารและ
การจัดการศึกษาให้คณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ตาม กฎกระทรวง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
อุทัย ธรรมเตโช (2531) . หลักบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ : เจ้าพระยาการพิมพ์.
EW Smith (1961). The Educators Encyclopedia. New Jersey : Prentice Hall.
http://www.onec.go.th.
http://db.onec.go.th/publication/get_book.php?sub_book=3&name_sub=การเรียนรู้.
http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/snamcn/Kanyamon_Indusuta/
Chapter2.pdf.

โรงเรียนดี เด่น ดัง

โรงเรียนดี เด่น ดัง

เจ้าของบทความนี้ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียน ดี เด่น ดัง แห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐบาลในต่างจังหวัด เป็น โรงเรียนที่ผู้ปกครองนิยมส่งลูกหลานเข้ามาเรียนกันมาก เนื่องจากมีชื่อเสียงในการส่งนักเรียนเข้าประกวดแข่งขันทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนั้นนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบเข้าเรียนต่อในชั้น มอ 1 โรงเรียนประจำจังหวัดได้ยกชั้น ได้รับงบสนับสนุนจากภาคเอกชนจำนวนมาก จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารและคณะครูพบว่าความสำเร็จดังกล่าวมาจากปัจจัย หลัก 3 ปัจจัย หรือ เรียกว่า ปัจจัย 3 ธรรม ดังนี้ ครับ
1. วัฒนธรรมขององค์กร โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีวัฒนธรรมเรื่องการเรียนการสอนมาเนิ่นนาน วัฒนธรรมดังกล่าว เกิดจากคณะครูและผู้บริหารในโรงเรียนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา
2. คุณธรรมของผู้บริหารโรงเรียน การคัดเลือกผู้บริหารที่โรงเรียนนี้ จะคัดเลือกจากผู้บริหารที่มีคุณธรรมสูง โดยศึกษาจากประวัติส่วนตัวและประวัติการรับราชการที่ผ่านมา จะไม่เอา “ใครก็ได้” มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้
3. จริยธรรมของครูผู้สอน ครูทุกคนในโรงเรียนจะทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ใครไม่ทุ่มเทก็จะรู้สึก “แปลกแยก” ไปเอง ท่านรองฯ ที่รับผิดชอบงานวิชากาสร บอกว่า ที่โรงเรียนนี้ จะนิเทศโดยไม่ต้องนิเทศ คือ คุณครูทุกท่านจะรู้ตัวเอง ว่าหย่อนตรงใหน ควรจะพัฒนาอย่างไร
เรื่องที่ประทับใจอีกเรื่องของโรงเรียนนี้ คือ คณะครูจะไม่แบ่งพรรค แบ่งพวก เนื่องจากเป็นคณะครูที่มีวุฒิภาวะสูง และ ไม่มีเวลาว่างที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้
ที่นี้ ลองกลับมามองมุมตรงข้ามกันบ้างครับ โรงเรียนที่ 3 ธรรม อ่อนแอ ก็จะมีลักษณะ ดังนี้ ครับ
1. วัฒนธรรมขององค์กรอ่อนแอ โรงเรียนที่มีวัฒนธรรมของความไม่เสมอภาค ความไม่เป็นธรรม อันเกิดจาก “อคติ” ของผู้บริหาร โรงเรียนนี้ก็จะเป็นโรงเรียนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการแก่งแย่งชิงดี เป็นโรงเรียน “ปราบเซียน” นั่นคือ ทั้ง ผู้บริหาร หรือ คุณครูท่านใดที่ย้ายเข้าไป ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
2. คุณธรรมของผู้บริหารโรงเรียนอ่อนแอ ผู้บริหารที่คุณธรรมอ่อนแอ เข้าไปอยู่โรงเรียนใหนก็พังทั้งระบบครับ ที่น่าเป็นห่วงและน่าเสียดายมากที่สุด คือ โรงเรียนดีๆ ที่เขามีวัฒนธรรรมอันดีงามเรื่องการเรียนการสอน พอย้ายผู้บริหารที่คุณธรรมอ่อนแอเข้าไปอยู่ จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงเร็วมากครับ แค่ปีแรก ความเปลี่ยนแปลงในทางลบก็เริ่มเห็น ปีต่อๆมาก็ไม่ต้องพูดถึงครับ สาละวันเตี้ยลง
3. จริยธรรมของครูผู้สอนอ่อนแอ ข้อ 1 กับ ข้อ 2 มันโยงมาถึงข้อ 3 ครับ ธรรมดาของคนก็เหมือนน้ำครับ คือ พร้อมที่จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น ถ้าครูในสภาพปกติ มีสิ่งแวดล้อมของการแก่งแย่งชิงดี ก็พร้อมที่จะเข้าไปแก่งแย่งชิงดีกับเขาด้วย และในสภาพดังกล่าว “ครูดีๆมีอุดมการณ์” เขาจะไม่เข้าไปคลุกด้วยครับ ยังคงทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เพียงแต่ว่ามีความรู้สึก “ท้อ ถอย เบื่อหน่าย และ ปลง” บ้าง ในบางครั้ง คุณครูประเภทนี้มักจะเป็นครูดีที่ถูกลืมครับ
ทั้งหมดนี่ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเจ้าของบทความนะครับ เป็นเพียงมุมมองหนึ่งในวงแคบๆเท่านั้นเอง ถ้าไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกใจ ก็ต้องขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณครับ