WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552

10 ปี กับการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลว

ภายหลังจากที่ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คนแรกที่ดิฉันสนใจ คือ ใครจะมานั่งเก้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสียงลือเสียงเล่าอ้างในตอนแรกบอกว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะนั่งควบเก้าอี้ตัวนี้ ก็เลยเช็กเรตติ้งคนทำงานในแวดวงวิชาการ ปรากฏว่า ขานรับแต่โดยดี กระทั่งท้ายสุดมาลงเอยที่ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ก็เลยต้องเช็กกระแสเสียงอีกที


ถ้าใช้ภาษาวัยรุ่นก็ประมาณ so so…

ส่วนใหญ่จะบอกว่ารับได้ แต่ต้องขอดูก่อนว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ?

วันก่อนเห็นหน้าคุณจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่าจะเร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2

อืมม์...ข่าวดีหรือข่าวร้ายไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ การปฏิรูปการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ได้พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับปี 2542 ซึ่งขณะนั้นผู้คนในแวดวงวิชาการส่วนใหญ่ชื่นมื่นเพราะเข้าใจว่าจะทำให้การศึกษาในบ้านเราดีขึ้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี วันนี้พิสูจน์ชัดว่าการปฏิรูปการศึกษาในบ้านเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ..!!

หลังจากพยายามหาสาเหตุหลักๆ ของความล้มเหลวประมาณคร่าวๆ ได้ดังนี้

หนึ่ง – เรื่องบุคลากรทางการศึกษา

10 ปีผ่านไป เคยขาดแคลนบุคลากรอย่างไร ขาดคุณภาพอย่างไร ครูกับงานการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกันอย่างไร ก็ยังคงปัญหาอยู่ครบทุกประการ หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ

สอง – นโยบายที่ทำไม่ได้จริง

จากความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลให้เปลี่ยนตัวผู้นำกระทรวงบ่อยๆ แถมคนที่มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงก็เข้าข่ายมือใหม่หัดขับ ส่วนคนเก่งมีความรู้ความสามารถก็ไม่รู้ว่าเหตุไฉนใยอยู่ไม่ได้สักราย ท้ายสุดก็เลยทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาในบ้านเราไปไม่ถึงไหน และไม่สามารถสานต่อนโยบายได้อย่างจริงจัง ประกอบกับนโยบายบางอย่างก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น กรณีนโยบายเรียนฟรี 12 ปี แท้จริงแล้วไม่สามารถทำได้จริง..!!!

แม้จะบอกว่าเรียนฟรี แต่เอาเข้าจริงคนเป็นพ่อแม่ก็รู้อยู่ว่า ความจริงไม่ได้เรียนฟรีเลย ใบเสร็จอาจจะไม่มีค่าเล่าเรียน แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ไม่จ่ายไม่ได้ หนำซ้ำกลับมีค่าใช้จ่ายจุกจิกโน่นนี่ตลอดทั้งปีอีกต่างหาก เพราะช่องว่างของนโยบายนั่นเอง

สาม - เน้นการแข่งขันด้านวิชาการสุดลิ่ม

โครงสร้างการศึกษาในบ้านเราให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันเพื่อมุ่งเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความสำคัญของช่วงชีวิตมนุษย์ที่ควรจะได้รับการเรียนรู้และส่งเสริมศักยภาพของสมองมากที่สุดคือช่วงวัย 0-6 ปี

แม้พ่อแม่ในยุคปัจจุบันจะมีความเข้าใจในเรื่องการศึกษามากขึ้น เห็นความสำคัญในช่วงปฐมวัยมากขึ้น บางคนให้ลูกได้เตรียมความพร้อม โดยเลือกโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมให้ลูก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็เข้าสู่ระบบแพ้คัดออก โดยใช้การสอบแข่งขันอยู่ดี ท้ายสุดพ่อแม่ก็ไม่สามารถต้านกระแสการแข่งขันในรูปแบบนี้ได้ ก็ต้องผลักลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันอยู่ดี

ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ เมื่อเด็กที่ถูกเคี่ยวกร่ำอย่างหนักมาตลอดชีวิตเพื่อการสอบแข่งขันทุกระดับจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐได้แล้ว กลับไม่ค่อยเน้นเรื่องวิชาการในระดับปริญญาตรี กลายเป็นช่วงที่วัยหนุ่มสาวลดระดับเรื่องวิชาการ เริ่มปล่อยปละและหันไปให้ความสนใจกับชีวิตในด้านอื่นๆ บางคนที่เคยเคร่งกับการสอบมาตลอดชีวิตก็ปล่อยตัวปล่อยใจสุดฤทธิ์ในช่วงนี้ เด็กบางคนที่หลงแสงสีและเสียผู้เสียคนในช่วงนี้จึงมีให้ผู้ใหญ่พบเห็นได้มากมาย

สี่ - ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา

ในอดีตมาตรฐานการศึกษาไม่เท่าเทียมกันในสังคมเมืองและชนบท ขณะที่สังคมเมืองเองก็มีปัญหาเรื่องมาตราฐานการศึกษาไม่เท่ากันระหว่างโรงเรียน แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้แผ่ขยายไปสู่มาตราฐานการศึกษาไม่เท่ากันในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกัน เนื่องเพราะมีการแบ่งหลักสูตรหรือแบ่งห้องเรียนในระดับชั้นเดียวกัน โดยอาศัยช่องว่างทางการศึกษาในการเก็บเงินเพิ่มขึ้นจากการแบ่งหลักสูตรนั้นๆ เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งแบ่งห้องเรียนออกเป็นหลายหลักสูตร มีทั้งห้องพิเศษ, ห้อง Gifted, ห้องหลักสูตรภาษาอังกฤษ ฯลฯ และห้องเหล่านั้นจะมีค่าเทอมที่แพงกว่าห้องเรียนปกติ

และแน่นอนว่า พ่อแม่ทุกคนต่างอยากให้ลูกได้เรียนทุกห้องยกเว้นห้องเรียนธรรมดา

ห้า - หลักสูตรการศึกษาในระบบมีปัญหา

ในอดีตการเรียนกวดวิชาจะเน้นเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อน หรือเด็กที่ต้องการติวเพิ่มเติมเพราะเรียนไม่ทัน หรือเฉพาะช่วงต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ค่านิยมของการกวดวิชากลายเป็นว่าต้องเรียนให้เหนือกว่าในห้องเรียน ต้องเหนือกว่าเพื่อนคนอื่น หรือต้องเหนือกว่าระดับชั้นเรียนในปัจจุบัน จากที่เคยเรียนกวดวิชากันในระดับชั้นมัธยมปลาย ก็เริ่มขยับลงเรื่องๆ มาสู่มัธยมต้น ระดับประถม และปัจจุบันบางคนก็ติวตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ

คนแห่ไปกวดวิชา เพระไม่เชื่อมั่นการศึกษาในระบบ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ที่เปลี่ยนไป

ในขณะที่โรงเรียนเองก็มีการเรียนพิเศษทั้งช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ถ้าโรงเรียนไม่เปิดสอนเอง คุณครูหรืออาจารย์ก็จะเปิดสอนพิเศษเอง โดยสอนเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนของตนเองนั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับคุณครู แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทำไมถึงต้องเรียนพิเศษ เรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้นไม่พอเพียงหรือ แล้วโรงเรียนไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพียงพอหรือในการดูแลการเรียนการสอนของแต่ละสายชั้นหรือ ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนกลับสนับสนุนให้พ่อแม่พาลูกไปเรียนพิเศษ กวดวิชากันเอง

ปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่คุณครูในโรงเรียนสอนพิเศษเอง ทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่และสอนเฉพาะรายวิชานั้นๆ และสถาบันกวดวิชาข้ามชาติที่เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยมากมาย

ก่อนหน้านี้ รศ.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้วิจัยเรื่องการกวดวิชาของนักเรียน ในกลุ่มตัวอย่าง 3,353 คน ทั้งนักเรียนมัธยมปลาย นิสิตนักศึกษาผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ครู ผู้ปกครอง ตัวแทนโรงเรียนกวดวิชา พบ นักเรียนมัธยมปลายเกิน 30% เรียนกวดวิชา โดยผู้ที่กวดวิชาจะมีผลการเรียนดีกว่าผู้ที่ไม่กวด นักเรียนในเขตเมืองกวดวิชามากกว่าเขตนอกเมือง

มหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบการสอบเอนทรานซ์ มาเป็นแอดมิชชัน ให้มีสอบโอเน็ต เอเน็ต เก็บคะแนนจีพีเอ รวมทั้งสังคมที่แข่งขันสูง ทำให้มีการกวดวิชามากขึ้น และกวดกันตั้งแต่ระดับอนุบาลด้วยซ้ำ เชื่อว่ามีเด็กที่กวดวิชาไม่น้อยกว่า 40-50% ในปี 2549 ประมาณการณ์ว่ามีเด็กอยู่ในระบบการศึกษา ระดับ ป.1-ป.6 จำนวน 5,700,000 คน ระดับ ม.1-ม.6 จำนวน 4,660,000 คน รวม 10,360,000 คน

ในจำนวนนี้กวดวิชา 40% จำนวน 4,144,000 คน หากเรียนกวดวิชาอย่างน้อยคนละ 2 วิชา วิชาละ 2,500 บาท ก็เป็น 5,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 20,720 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คิดจากค่าเฉลี่ยต่ำสุด ถ้าคิดว่ากวดวิชาราว 50% จะเป็นเงิน 25,900 ล้านบาทต่อปี จึงน่าจะมีเงินหมุนเวียนตลาดนี้ปีละ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปี

หก - แปะเจี๊ยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ภาครัฐจะมีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องแปะเจี๊ยะมาโดยตลอด ทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งรับประกัน แต่ลองไปถามพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงสิคะ แล้วจะรู้ว่าไม่ได้จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะหรอกค่ะ แต่เขาเรียกค่าอย่างอื่นที่สุดแท้แต่โรงเรียนจะสรรหาเรียกไป

ตราบใดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกันได้ หรือไม่เหลื่อมล้ำกันจนเกินไป ก็ไม่มีวันแก้ปัญหาเรื่องค่าแปะเจี๊ยะในสังคมไทยได้อย่างแน่นอน

เป็นไงคะ จากการประมวลปัญหาคร่าวๆ พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการจะปฏิรูปการศึกษายกสองกันบ้างหรือยัง

ดิฉันยังจำได้ดีว่าตั้งแต่ลูกเล็กจนปัจจุบันอายุเท่าห้วงเวลาปฏิรูปการศึกษาในวันนี้ เจอะเจอวังวนของปัญหาการศึกษาที่หันไปทางไหนก็ตีบตัน ต้องใช้สรรพกำลังและความพยายามอย่างมากที่จะไม่ตกเข้าไปในกับดักการศึกษาที่ท้ายสุดแล้วไม่แน่ใจจริงๆ ว่าจะการศึกษาในบ้านเราแท้จริงช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กจริงหรือ..!!




ภาพชายสูงวัยที่นั่งอยู่บนรถเข็นสุดไฮเทคอาจทำให้คุณสนใจเพียงเพราะอุปกรณ์รอบตัวที่มีอยู่ แต่หากรู้ว่าเขาคือเจ้าของหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดนิยม A Brief History of Time ที่ชื่อ “สตีเฟน ฮอว์คิง” สิ่งที่คุณสนใจน่าจะเป็น มันสมองที่เขามีอยู่มากกว่า

ฮอว์คิง เป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ในปี 1963 ขณะศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ฮอว์คิงรู้ว่าเขาเป็นโรคลูเกห์ริก อาการก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งแพทย์ก็บอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

แต่นั่นกลับไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเขาคนที่ตั้งใจที่จะสร้าง ความก้าวหน้าให้กับวิชาฟิสิกส์ โดยเฉพาะการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพและทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม สองทฤษฎีอันยิ่งใหญ่เข้าด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการบรรยายของนักคณิตศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องเมื่อปี 1965 อย่างโรเจอร์ เพนโรส ผู้พิสูจน์ว่าหลุมดำมีอยู่จริง

มันเกิดจากความตายของดวงดาวขนาดใหญ่เมื่อดวงดาวไหม้จนหมด สิ่งที่เหลืออยู่ทั้งหมดก็จะถูกดึงเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งศูนย์กลางของดวงดาวจะหนักมากจนแม้แต่ของหนึ่งช้อนชาก็ยังหนักกว่าเทือกเขาหนึ่งลูก พร้อมกันนั้นรอบ ๆ ดวงดาวอวกาศกำลังถูกบิดให้โค้งกลับเข้าไปในศูนย์กลาง ท้ายที่สุดความโค้งงอของอวกาศ ซึ่งเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้จุดสิ้นสุด แม้แต่ลำแสงก็หนีออกไปไม่พ้น รอบ ๆ ศูนย์กลางที่หนาแน่นสุด ๆ มีพื้นที่แห่งความมืดที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าหลุมดำ




เพนโรสได้พิสูจน์โดยใช้สมการของไอน์ไสตน์ว่า ณ จุดศูนย์กลางของหลุมดำ มันมีช่องระบายที่สสาร อวกาศและเวลาหายไป รูที่ว่านี้มีชื่อทางคณิตศาสตร์เก๋ไก๋ว่าซิงกูลาริตี้ (singularity) และหลังจากนั้นฮอว์คิงก็เริ่มหมกมุ่นกับการทำความเข้าใจกับซิงกูลาริตี้

ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ฮอว์คิงได้พิสูจน์ว่าจักรวาลต้องปรากฏขึ้นจากจุดที่เล็กมากจุดหนึ่ง แต่เขาก็ไม่สามารถจะทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม สำหรับหลาย ๆ คนแล้วการปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันแบบอธิบายไม่ได้ของจักรวาล แล้วก็ขยายตัวขึ้นจากจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งมันจะต้องเป็นปาฏิหาริย์แน่

การไขปริศนาของซิงกูลาริตี้ จุดเล็ก ๆ ของการรังสรรค์ได้กลายเป็นงานชั่วชีวิตของฮอว์คิง การแสดงให้เห็นว่าจักรวาลทั้งหมดเกิดจากจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งไม่เพียงพอ ฮอว์คิงต้องการทฤษฎีของสรรพสิ่งที่สมบูรณ์ ทฤษฎีที่จะอธิบายจุดกำเนิดของจักรวาลอย่างละเอียดชัดแจ้ง และก็เป็นอีกครั้งที่หลุมดำจะเป็นตัวชี้ทางสว่าง

ในต้นทศวรรษ 1970 หลุมดำคือผู้นำมาซึ่งความตาย แต่สำหรับนักวิจัยฟิสิกส์อย่างฮอว์คิง มันกลับเป็นความท้าทายที่น่าตื่นเต้น เขาพยายามมองย้อนกลับไปเมื่อ 13.7 พันล้านปีที่แล้ว ณ จุดเริ่มของสรรพสิ่ง แต่อุปสรรคสำคัญก็คือการหาทฤษฎีมาอธิบายว่าในยุคเริ่มต้นจักรวาลมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

ทฤษฎีของไอน์สไตน์บอกว่า หลุมดำคือพื้นผิวทรงโดมที่เรียบสมบูรณ์ ฮอว์คิงผลักมันเข้าไปในทะเลแห่งอนุภาคและอะตอม ทฤษฎีทั้งสองปะทะและต่อสู้กัน ฮอร์คิงต้องหาวิธีทำให้มันอยู่ด้วยกัน ในระดับอะตอม อนุภาคแทบจะไม่มีอยู่ มันไม่เหมือนก้อนสสารแข็ง ๆ หากแต่เหมือนกับสนามพลังที่ว่างเปล่ามากกว่า

และในฐานะสนามพลัง มันจึงส่งประกายเรืองรองออกมา มันเหมือนกับคลื่นมากกว่า น้ำ เสียงและแสง สามารถจะทำตัวเหมือนคลื่น แต่ส่วนต่างๆ ของอะตอมก็ทำอย่างนั้นได้ และนั่นก็หมายความว่ามันสามารถจะกระจายตัวออกไปอยู่ในหลาย ๆ ที่ในช่วงเวลาหนึ่ง




ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ฮอว์คิงได้ดิ้นรนค้นหาวิธีที่จะมาอธิบายแรงโน้มถ่วงมหาศาลด้วยทฤษฎีควอนตัม แต่เขามีความเชื่อมั่นศรัทธาว่าทฤษฎีสิ่งที่เล็กมากจะใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ และก็มีหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของเขาด้วย เช่นเดียวกับอะตอมซึ่งไม่หยุดนิ่ง ไม่คงที่ ดูเหมือนว่าจักรวาลเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย

ทุกวันนี้ในวัย 66 ปี สตีเฟน ฮอว์คิง เป็นศาสตราจารย์ลูเคเชียนด้านคณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตำแหน่งที่ เซอร์ ไอแซค นิวตัน เคยรับหน้าที่มาก่อน เขายังคงทำงานสอนและวิจัยเต็มสัปดาห์ และเป็นวิทยากรที่โลกวิชาการต้องการคำบรรยายอันประเทืองปัญญาของเขาเสมอ

จากปรนัยเป็นอัตนัย

เยาวชนชี้ปรนัยทำลายชาติ เด็กทำข้อสอบได้แต่ไม่มีความรู้



ศ.ดร.ณรงค์ ปั้นนิ่ม อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานคณะกรรมการผู้ดูแลวิชาคณิตศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) เปิดเผยว่า

การจะทำให้เด็กไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ไม่ตกต่ำนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตลอดถึงการออกข้อสอบในทุกระดับโดยเฉพาะข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นต้องเปลี่ยนแปลงจากปรนัยเป็นอัตนัย

อย่างในประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย อังกฤษ สิงคโปร์ ไม่ใช้ข้อสอบปรนัยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย อยากเห็นสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งดูแลในเรื่องการออกข้อสอบต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกข้อสอบ

ทุกวันนี้เราเรียนเพื่อสอบเข่งขันกันมากเกินไป ครูเองก็สอนเพื่อให้นักเรียนไปทำข้อสอบ การเรียนเพื่อให้เห็นถึงหัวใจในรายวิชาต่างๆ แทบไม่มีจุดมุ่งหมาย ในแต่ละรายวิชาครูแทบไม่รู้ว่าสอนหรือให้เด็กเรียนไปเพื่ออะไร เพราะครูท่องอยู่คำเดียวว่าเรียนไปเพื่อสอบ เด็กถูกปลูกฝังอย่างนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครู ก็ตกอยู่ในวงจรเดิมๆ จนยากที่จะแก้ไข

มีครูสักกี่คนที่สอนเด็กเพื่อความรู้จริงๆ ก่อนเรียนบอกเด็กเรื่องของจุดมุ่งหมายในแต่ละรายวิชา ผมไม่ได้มองว่าข้อสอบปรนัยมีแต่ข้อเสีย หากแต่เมื่อเราเอามาใช้เราใช้แบบฉาบฉวยมากเกินไป จนมันเกิดเป็นสิ่งที่เลวร้ายขึ้นกับระบบการศึกษาไทย

ทุกวันนี้เรายึดเรื่องสอบเป็นหลัก บางโรงเรียนถ้าเด็กคนใดไม่ใช่วิชาไหนไปสอบแทบไม่ต้องเรียนในรายวิชานั้น และบางรายวิชาครูก็ไม่ให้ความสนใจเด็กไม่ต้องเรียน ถ้าเราเรียนเพื่อความรู้เราต้องสอนให้เด็กรู้จุดประสงค์ของการเรียนในทุกรายวิชา เพราะแต่ละวิชาต่างมีคุณค่าและมีความงามในตัวเองแทบทั้งสิ้น

การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นนั้น เราต้องรื้อแนวคิดออกข้อสอบ การเรียนการสอนที่เน้นการทดสอบโดยใช้ข้อสอบอัตนัยให้มากขึ้น บางโรงเรียนให้นักเรียนเรียงความ ย่อความแต่ออกเป็นข้อสอบปรนัย

จะเห็นว่าทางการที่เราเน้นข้อสอบปรนัยมากๆ แม้กระทั่งการย่อความเรียงความ ส่งผลให้เด็กไทยเขียนอธิบายหรือย่อความ จับประเด็นไม่เป็น ผมอยากเห็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเป็นเอาจริงเอาจังและพร้อมจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องการออกข้อสอบ แต่ต้องเอาจริงเอาจัง

บ่อยครั้งที่เราเห็น ศธ. มีแนวคิดแต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วไม่สามารถทำได้ อย่างเช่นศธ.พูดเรื่องการบรรจุครูในโรงเรียนต่างๆ แต่ไม่ได้ดูว่าโรงเรียนแต่ละโรงขาดครูในวิชาใดบ้าง บ่อยครั้งที่เราเห็นครูที่จบพละศึกษาต้องไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่อย่าหวังว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยจะดีขึ้น

ศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ผมอยากจะให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนเรื่องการเรียนซ้ำชั้น ทบทวนเรื่องข้อสอบปรนัยที่ใช้อยู่ในโรงเรียนต่างๆ ตลอดถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย กันอยู่จนเกิดเป็นความเคยชิน ในสมัยก่อนมีคนเรียนซ้ำชั้นตอนม.8 แต่ความรู้ความเข้าใจเขามีมากขึ้น จนเขาสามารถสอบเข้าเรียนแพทย์ได้

ผมคิดว่าการเรียนซ้ำชั้นในปัจจุบันนี้ ยังมีความจำเป็นอยู่ เด็กจำนวนไม่น้อยสอบไม่ผ่านแก้ 0 เพื่อให้ผ่าน ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนเบื่อจนตัวครูเองก็เบื่อ นักเรียนก็เบื่อ แต่สุดท้ายเด็กก็ผ่านไปได้แม้คุณภาพจะไม่ได้คุณภาพก็ตาม มันจึงเป็นการปล่อยๆ เด็กให้ผ่านไปโดยไร้คุณภาพ

วิกฤติเด็กไทยไม่อยากมาโรงเรียน
จำนวนผู้อ่าน : 528


--------------------------------------------------------------------------------





เข้าขั้นวิกฤติเต็มที เด็กไม่อยากมาโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้น ผอ.สถาบันรามจิตติเผย 1.5 แสนคน ชอบมาโรงเรียนแค่ 40% ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมในต่างจังหวัด อ้างโรงเรียนนั้นไม่ปลอดภัย แถมครูสอนน่าเบื่อ ไม่สร้างแรงบันดาลใจการเรียนรู้ ด้าน "อ.สมพงษ์" แนะปรับรูปแบบการเรียน หาเทคนิคการสอนที่เข้ากับวัยเด็ก


นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ เผยผลการสำรวจนักเรียนจำนวน 150,000 คน จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศโดยสุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 2,000 คน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ ได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบมาโรงเรียนของนักเรียน โดยให้เลือก 3 ระดับด้วยกัน คือ ชอบมาโรงเรียนมาก ชอบมาโรงเรียนในระดับปานกลาง และไม่ชอบมาโรงเรียนอย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่ามีนักเรียนที่ชอบมาโรงเรียนมากมีเพียงแค่ร้อยละ 40 เท่านั้น


ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่านักเรียนที่อยู่ในเมือง ไม่ชอบมาโรงเรียนมากกว่านักเรียนที่อยู่นอกเมืองหรือในต่างจังหวัด และนักเรียนระดับประถมชอบไปโรงเรียนมากกว่านักเรียนระดับมัธยม


นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มเด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยนั้นมีสูงขึ้น เพราะพบเห็นภาพความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชกต่อยในโรงเรียน แก๊งรีดไถ แถมนิสัยการอ่านหนังสือลดน้อยลงอีกด้วย


"ผลการสำรวจที่ออกมา ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนตัวเอง ตั้งแต่เรื่องวิธีสอนของครู ที่ให้ความสำคัญกับการทำผลงานมากกว่าใส่ใจการสอนเด็ก รวมถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนด้วย" ผอ.สถาบันรามจิตติกล่าว


ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ผลงานวิจัยของโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชน Child Watch ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบันรามจิตติ โดยได้ทำการสำรวจนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 9,000 คน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม และ จ.นนทบุรี


"ผลงานวิจัยพบว่าเด็กขาดความสุข ขาดความกระตือรือร้น และขาดแรงบันดาลใจในการมาโรงเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยม ซึ่งได้มีการตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กรู้สึกเช่นนั้น เกิดจากเด็กรู้สึกว่าการมาโรงเรียนไม่น่าสนุก น่าเบื่อ ถึงขนาดคอยเช็กชั่วโมงเรียนว่าชั่วโมงไหนครูไม่เข้าสอนบ้าง สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะครูมุ่งแต่จะทำผลงานทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง นอกจากนั้นเนื้อหาของหลักสูตรยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กต้องการจะเรียนรู้ ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว


อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาด้วยว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนน่าอยู่ โดยหากิจกรรมเข้ามาเสริมเพิ่มความกระตือรือร้นให้กับเด็ก รวมถึงการหาอุปกรณ์การเรียนการสอนและสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ รวมทั้งหาเทคนิควิธีการเรียนที่เข้ากับวัยของเด็กด้วย





--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

50 ผู้นำโลกยุคใหม่

50 ผู้นำโลกยุคใหม่
December 25, 2008
นิตยสาร Newsweek ฉบับสุดท้ายของปี 2008 ได้จัดอันดับผู้นำที่ทรงอิทธิพลต่อโลก 50 คน โดยมีรางชื่อดังนี้
ที่มา - Newsweek
(หมายเหตุ: บางอันดับเป็นผู้นำร่วม หรือผู้ที่อยู่ในทีม-องค์กรเดียวกัน)
• 1: Barack Obama - ประธานาธิบดีสหรัฐ
• 2: Hu Jintao - ประธานาธิบดีจีน
• 3: Nicolas Sarkozy - ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
• 4-5-6: Economic Triumvirate - ผู้กุมชะตาทางเศรษฐกิจของโลก ประกอบด้วย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐ, Jean-Claude Trichet ประธานธนาคารกลางยุโรป และ Masaaki Shirakawa ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่น
• 7: Gordon Brown - นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
• 8: Angela Merkel - นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
• 9: Vladimir Putin - นายกรัฐมนตรีรัสเซีย
• 10: Abdullah bin Abdulaziz Al-Saud - กษัตริย์ของซาอุดิอาระเบีย
• 11: Ayatollah Ali Khamenei - ผู้นำทางศาสนาของอิหร่าน
• 12: Kim Jong Il - ผู้นำเกาหลีเหนือ
• 13-14: The Clintons - บิล คลินตัน และฮิลลารี คลินตัน
• 15: Timothy Geithner - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของโอบามา
• 16: Gen. David Petraeus - ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในอิรัก
• 17: Sonia Gandhi - ประธานพรรคคองเกรสของอินเดีย
• 18: Luiz Inácio Lula da Silva - ประธานาธิบดีบราซิล
• 19: Warren Buffett - นักลงทุนและมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก
• 20: Gen. Ashfaq Parvez Kayani - ผู้บัญชาการกองทัพบกของปากีสถาน
• 21: Nuri al-Maliki - นายกรัฐมนตรีอิรัก
• 22-23: The Philanthropists - บิล เกตส์ และเมลินดา ภรรยา ในฐานะเจ้าของมูลนิธิช่วยเหลือสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
• 24: Nancy Pelosi - ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ พรรคเดโมแครต
• 25: Khalifa bin Zayed Al Nahyan - ประธานาธิบดีของอาหรับเอมิเรตส์
• 26: Mike Duke - ซีอีโอของ Wal-mart บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
• 27: Rahm Emanuel - ผู้อำนวยการทำเนียบขาวของโอบามา
• 28: Eric Schmidt - ซีอีโอของกูเกิล
• 29: Jamie Dimon - ซีอีโอของ JP Morgan Chase
• 30-31: Friends of Barack - ประกอบด้วย David Axelrod หัวหน้าทีมหาเสียงของโอบามา และ Valerie Jarret หนึ่งในที่ปรึกษาของโอบามา
• 32: Dominique Strauss-Kahn - ผู้อำนวยการกองทุน IMF
• 33: Rex Tillerson - ซีอีโอของ ExxonMobil (เอสโซ่)
• 34: Steve Jobs - ซีอีโอของแอปเปิล
• 35: John Lasseter - ซีอีโอของ Pixar Animation (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของดิสนีย์)
• 36: Michael Bloomberg - นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก
• 37: Pope Benedict XVI - พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน
• 38: Katsuaki Watanabe - ซีอีโอของโตโยต้า
• 39: Rupert Murdoch - ซีอีโอของ News Corporation (เจ้าของสื่อขนาดใหญ่)
• 40: Jeff Bezos - ซีอีโอของ Amazon.com
• 41: Shahrukh Khan - ดาราภาพยนตร์จากอินเดียชื่อดัง
• 42: Osama bin Laden - ผู้ก่อการร้าย
• 43: Hassan Nasrallah - ผู้นำชบวนการต่อสู้ของเลบานอนต่ออิสราเอล
• 44: Dr. Margaret Chan - ผู้อำนวยการองค์การสุขภาพโลก (World Health Organization - WHO)
• 45: Carlos Slim Helú - มหาเศรษฐีอันดับสามของโลก ชาวเม็กซิโก เจ้าของกิจการโทรคมนาคมหลายแห่ง
• 46: The Dalai Lama - ผู้นำทางศาสนาของทิเบต
• 47: Oprah Winfrey - พิธีกรโทรทัศน์ของสหรัฐ
• 48: Amr Khaled - พิธีกรโทรทัศน์ของอียิปต์
• 49: E. A. Adeboye - ผู้นำศาสนาคริสต์ในไนจีเรีย
• 50: Jim Rogers - ซีอีโอของ Duke Energy บริษัทพลังงานทดแทน