WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Wisdom House : สถานสิกขาของจอมคน

Wisdom House : สถานสิกขาของจอมคน
December 12, 2008
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

ในโลกอนาคต ภูมิปัญญาแบบ Wisdom จะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า นับจากนี้ โลกจะแข่งขันกันรุนแรงมาก เมืองไทยต้องหันมาทบทวนตัวเอง เราต้องผลิตคนที่มีความคิดลึกซึ้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม


ลองดูตัวอย่างในอเมริกา ระบบสังคมเศรษฐกิจการเมือง ล้วนแต่สนับสนุนให้ผู้คนขบคิดอย่างลึกซึ้ง เยาวชนอายุ 16-17 ปี ต่างต้องเริ่มต้นดิ้นรนในชีวิตกันแล้ว มันมีระบบบางอย่างที่บีบบังคับให้วัยรุ่นต้องคิดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องการช่วยเหลือตัวเอง แต่เมืองไทยนั้น “สบายจนเคยตัว” ทำให้เด็กไทยมีปัญหาชีวิตมากมาย อ่อนแอและเปราะบางทางจิตใจ ไม่มีหลักยึดในการดำรงชีวิต เคว้งคว้าง ลอยไปลอยมา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็มีปัญหาในการทำงาน การพัฒนาผลงานให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นับจากนี้ไป โลกาภิวัตน์จะไม่อนุญาตให้เราปิดตัวเอง แข่งขันกันในประเทศเหมือนอย่างเดิมอีกต่อไป

ผมเลยคิดวิธีการที่จะมาช่วยเหลือวัยรุ่นไทยและผู้ปกครองทั้งหลาย ถ้ามีระบบตรงนี้ เราจะสบายกว่าอเมริกา เพราะการดิ้นรนด้วยตัวเองเทียบกับการมีคนชี้แนะนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า แนวทางใดใช้เวลาน้อยกว่ากัน เพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่ากัน วัยรุ่นอายุ 16-17 ให้มาดิ้นรนต่อสู้ อย่างดีก็พัฒนาได้เท่าเด็กอเมริกา แถมยังจะเสียเปรียบอีกด้วย เพราะระบบสังคม ระบบความรู้ ระบบดิ้นรนต่อสู้ ที่คอยสนับสนุนขัดเกลาวัยรุ่นนั้น ประเทศเราไม่เอื้อต่อการฝึกฝนความฉลาดประเภทนี้เอาเสียเลย

สำหรับ Wisdom House หรือ สถานสิกขาจอมคน ที่ต้องการนำเสนอนั้น จะสรุปบทเรียนทั้งหมดมาเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถนำมาพัฒนาเยาวชนไทยได้เลย พร้อมกับแบบฝึกหัดให้ฝึกฝนตนเอง แต่สุดท้ายผู้เรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้จาก wisdom house ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประวัน เราหยิบยื่นบทเรียนให้แล้ว คุณต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย แต่การเอาไปใช้นั้น มันง่ายกว่าดิ้นรนเองแบบเด็กอเมริกัน ที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์

Wisdom ที่ใช้ในบริบทนี้ มันไม่ใช่ คำไทย ที่แปลว่า ปฏิภาณ หรือ ความเฉลียวฉลาด แต่เป็นทั้งปฏิภาณและความเฉลียวฉลาด ผสมผสานกันอย่างลงตัว ยิ่งกว่านั้น เรานิยามเพิ่มไปด้วยว่า คือ การคิดใหม่ ไม่ติดในกรอบเดิม (rethink) รู้จักปรับเปลี่ยนประเมินค่าสรรพสิ่งด้วยสายตาสดใหม่ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (revalue) แต่นั่นยังไม่พอ เราต้องการให้ Wisdom House ของเรา กินความรวมถึง การรู้จักคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ แต่การคิดสร้างสรรค์นั้น ไม่ใช่การคิดเพ้อฝัน สะเปะสะปะ แต่ต้องตอบสนองความต้องการของเพื่อนร่วมโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางวัตถุและจิตใจ profitability จึงเป็นสิ่งที่มาช่วยเสริมให้ Wisdom ของเรามีคุณภาพลึกล้ำมากขึ้น สุดท้ายแล้ว คนรุ่นใหม่จะต้องฝึกฝนการคิดบวก(positive thinking) ให้กลายเป็นนิสัย เพราะการจะสร้างสรรค์โลกได้นั้น เราต้องมีพลังและความสนุกในการที่จะดำรงชีวิตเสียก่อน

แต่การคิดในแง่บวกนั้น จะต้องคิดอย่างถูกวิธีด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่า “คิดบวก” ผมเคยเห็นหนังสือ How to เล่มหนึ่งที่โด่งดังมาก The Secret คนทั่วไปอ่านแล้วชอบทันที เพราะโปรโมตกันอย่างเป็นระบบ ที่อเมริกาโด่งดังมาก ก่อนหน้านี้ผมเคยเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ZigZag เห็นหน้าปกแล้ว “สุนทรีย์” มาก แต่เมื่อเปิดมาเจอเนื้อในแล้ว ให้ความรู้สึกที่หดหู่ เขาพูดประมาณว่า “สตาร์บัคทำได้เพราะใจรัก” ผมคิดว่า “ใจรัก” เป็นสิ่งสำคัญ แต่มันต้องมีอะไรมากมายกว่านั้น ซึ่งถ้าคนอ่านเพียงแค่นี้ หลงชื่อแล้วไปทำตาม ก็พินาศเลยนะ

The Secret มันเข้าไปจับหัวใจคน คือ อธิษฐาน อธิษฐาน อธิษฐาน มันคล้ายๆกับ Starbucks ใจรักแล้วคุณจะสำเร็จ คิดแบบนี้ก็ช่วยเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิม แต่ในความเป็นจริงมันต้องมีหลายอย่าง ถึงจะทำได้สำเร็จ ต้องทำงานหนัก ต้องกล้าเสี่ยง ต้องกล้าเผชิญหน้า คือมันมีอะไรมากกว่าความรักอย่างเดียว

Positive thinking นี่ต้องระวังนะ รู้มั้ยอะไรคือแรงบันดาลใจที่ผมจะตั้ง wisdom house เพราะมันมี wisdom house ปลอมๆที่หลอกหลวงคนไทยเยอะมาก ที่พร้อมจะหลอกให้ท่านไปทางผิด บางทีผมแอบคิดแบบแกมโกง(evil) “ก็ดีนะ หลอกคนอื่นไปทางผิด เรารู้ทางถูกเราจะได้รวยคนเดียว” แต่เอาเข้าจริงผมก็ไม่ใจดำอำมหิตเพียงพอ เมื่อพบอะไรดีๆ เด็ดๆ ก็อยากจะมาแบ่งปันช่วยเหลือกัน ตามประสาคนไทยด้วยกัน

Wisdom house ที่ผมมุ่งมั่นจะทำให้เป็นสถาบันในการเจียระไน วัยรุ่นไทย ให้กลายเป็น “จอมคน” เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น ผมคิดไว้ว่าจะหลอมรวมภูมิปัญญาต่างๆที่เคยสัมผัส มากลั่นผลึกเป็นบทเรียนให้ร่วมฝึกฝนเรียนลัดกัน จุดประสงค์คือ จะสร้างวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ซึ่งมุ่งสู่ความมั่งคั่งใหม่อย่างชาญฉลาด ที่สำคัญ จะกินความรวมถึงการใช้ชีวิตอย่าง “สุขสมรื่นรมย์” อีกด้วย

ผมเห็นหนังสือ How to จำนวนมาก ที่พูดถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่จริงๆแล้วพวกนี้ไม่เข้าใจจริงๆว่า “ความสุขคืออะไร” แม้แต่การเข้าถึงความสุข ก็ต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ว่ามีเงินมากมายแล้วจะมีความสุขได้ง่ายๆ บางคนคิดเลยเถิดไปถึงว่า “คนจน” คือ คนที่มีความสุข ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่เตลิดเปิดเปิง จริงๆแล้ว รวยหรือจน มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ความสุข” แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ สิ่งที่กำหนด “ความสุข” ก็คือ การพัฒนา “ปัญญา” เพื่อให้รู้เท่าทันตัวเอง รู้ว่าจะจัดการชีวิตอย่างไรให้มีความสุขเปี่ยมล้น ในวันคืนแสนสั้นของเรานั้น

หลักสูตรที่ผมร่างไว้นี้ ใครจะเลียนแบบไปใช้ ทั้งในเชิงส่วนตัว หรือเชิงธุรกิจการค้า ผมก็ไม่ว่ากัน หากมีความสงสัยหรือคำแนะนำอันใด สามารถโทรมาปรึกษาผมได้เสมอ

1. การวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Critical and Creative)

เริ่มต้นปูพื้นด้วยระบบการเรียนการสอนแบบคลาสสิคของชาวกรีก-โรมัน ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมเริ่มแรกที่ให้ความสนใจในการสร้างระบบเรียนรู้ของปัจเจกบุคคลและสังคม ผ่านการใช้ปัญญาอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผล หลุดพ้นจากการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หรือศรัทธาสิ่งใดอย่างงมงาย ปลอดพ้นจากการไต่สวนตรึกตรองให้รอบคอบ

การไตร่ตรองเหตุผลนั้น คนไทยจำนวนมาก ล้วนเข้าใจผิดว่า ต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ ที่สลับซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว หากเราแม่นยำในหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้องแล้ว คณิตศาสตร์ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป แน่นอนว่า คณิตศาสตร์ช่วยทำให้ความคิดเป็นรูปร่าง จับต้องได้ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาด การยึดติดกับคณิตศาสตร์มากเกินไป บางครั้งกลับกลายเป็นผลร้าย เพราะเท่ากับไปสร้าง “ความงมงาย” ชุดใหม่ขึ้นมา โดยไม่รู้ตัว

ใช่หรือไม่ว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่กำลังคุกคามชาวโลกอยู่ในขณะนี้ ได้เริ่มต้นจากความศรัทธาในคณิตศาสตร์และสมการอันสลับซับซ้อนซึ่งสามารถ “เสกสรรค์” ตราสาร Subprime ซึ่งแต่เดิมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้กลับกลายเป็นสินทรัพย์ชั้นดีไปได้ในชั่วข้ามปี หากเมื่อมนต์เสน่ห์ของคณิตศาสตร์ได้เลือนหายไป หายนะภัยของความลุ่มหลง ก็ได้ปรากฏชัดเจนเจ็บปวดยิ่งในปัจจุบัน

ปัญญาของ “กรีก-โรมัน” นั้น เริ่มต้นด้วยการ “ถกเถียงและโต้แย้งอย่างเป็นระบบ” ในตอนที่ผมเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์นั้น นับเป็นโชคดีของผมที่ได้ตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์กับ รศ.ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ ท่านจะสอนสั่งผมเสมอว่า ในระบบการเรียนการสอนของตะวันตกนั้น จะมีจุดแข็งที่กระบวนการ debate and discussion ผมขอแปลตรงๆแบบไม่เกรงใจว่า “โต้แย้งถกเถียง” แต่อย่าพึ่งอคติในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ แม้ชื่อจะดูไม่ดี แต่มันมีคุณประโยชน์สำคัญบางประการ ซึ่งผมคิดว่าเมืองไทยยังอ่อนด้อยในเรื่องนี้ เพราะคนกลุ่มหนึ่งจะไม่เห็นด้วยเลย กลัวว่าจะกลายเป็นชนวนให้คนในสังคมทะเลาะกัน แต่นั่นเพราะเรายังไม่เข้าถึงวิธีการที่แท้จริง ซึ่งสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย

ลองศึกษาวิธีการที่ทีมงาน SIU ของเราได้ประยุกต์ใช้หลักการ Debate and Discussion แน่นอนว่า อาจไม่เหมือนกับต้นฉบับแท้ของฝรั่ง เราได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนไทย แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งจุดแข็งของกระบวนการนี้ อยากให้ทุกคนได้ลองติดตามรายการ practical Utopia โดยเฉพาะตอนแรกๆ ที่เน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่มทีมงาน (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเน้นสัมภาษณ์แขกรับเชิญ) พวกเราล้วนถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ การวิพากษ์อย่างถูกวิธีจะทำให้ “ทุกคน” ได้รับอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเสมอ

ทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถทำได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์นั้น ต้องใช้ คุณสมบัติบางประการ โดยเฉพาะการมองโลกอย่างหลากหลาย เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แต่คนส่วนใหญ่นั้น เมื่อปักใจเชื่ออะไรแล้ว ก็มักจะเทไปในทางนั้นจนหมดตัว ตัวอย่างเช่น หลักคิดแบบ positive thinking ถ้าคนที่ไม่ชอบ หรือเคยประสบกับด้านลบของวิธีคิดแบบนี้มาก่อน ก็จะมองหลักคิดแบบนี้ในแบบแง่ร้ายไปเลย ขณะที่บางคนซึ่งเคยมีประสบการณ์ดีๆกับวิธีคิดแบบนี้ ก็จะเชื่อสนิทใจไปเลย ไม่เคยไตร่ถามถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องเลย

ยิ่งกว่านั้น คนไทยส่วนใหญ่จะติดภาพการโต้แย้งถกเถียงของ สส.ในรัฐสภา ยิ่งดูก็ยิ่งวุ่นวาย แต่เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า การขัดแย้งของ สส. ในสภาพนั้น มันเป็นการโต้เถียงที่ไม่เกิดประโยชน์ เป็นการโต้เถียงโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง หรือพูดให้แรงกว่านั้น คือ การโต้เพื่อตบทรัพย์ และคนที่เสียหายก็ไม่ใช่ใคร คือ ประเทศชาติโดยรวมนั่นเอง สส. เหล่านี้ก็มมี Wisdom เหมือนกัน แต่เป็น Wisdom ในด้านที่ไม่ดี คือ การหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใช่ Wisdom ที่สร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ

ในความหมายของผมนั้น การทำเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็น wisdom เพราะมันไม่ทำให้เกิด positive externality หรือเกิดผลประโยชน์ต่อภายนอก wisdom house ที่ผมตั้งใจจะสร้างขึ้นเพื่อประเทศไทยนั้นจะต้องเกิดผลเชิงบวกต่อภายนอกด้วย ไม่ใช่แค่ก่อให้เกิดกำไรอย่างเดียว ต้องส่งผลสะท้อนยาวไกล

Wisdom ที่แท้จริงนั้น จะต้องนำไปสู่ภาวะ win-win คือ สร้างประโยชน์ให้ตนเอง แล้วต้องสานประโยชน์นั้นไปสู่ผู้อื่นด้วย แต่ถ้าให้ดีต้องทำให้ดีเลิศ (Best) ไม่ใช่ดีธรรมดา (Good) หากเราทำให้ผลงานของเราดีกว่ามาตรฐาน มันจะส่งผลยาวไกลไปถึงลูกหลาน หลายgeneration หลายชั่วอายุคน

หลักสูตรของ Wisdom House จึงต้องเริ่มต้นด้วย การถกเถียงโต้แย้งแบบกรีก-โรมัน แต่จะไม่โต้แย้งแบบในสภา จะไม่โต้แย้งแบบการประชุมทั่วไป แต่เราจะโต้แย้งด้วยความสนุกสนาน โดยเรามีตัวอย่างให้เห็นในรายการ Practical Utopia ของเรา “ความสนุกสนาน” เพราะหากถกเถียงแล้วเคร่งเครียด เราจะทำได้ไม่นาน เพราะมันเป็นความทุกข์ เราต้องทำให้การถกเถียงนั้น ได้ทั้งความรู้และความสุขด้วย

การถกเถียงเป็นกระบวนการหาความรู้ที่ยอดเยี่ยมชนิดหนึ่ง เพราะมันนำไปสู่ “กระบวนการคิดได้ด้วยตนเอง” อาจารย์ผมเคยพูดไว้ว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่การเรียนที่สอนเนื้อหาหรือผลลัพธ์ แต่เป็นการสอนที่จะทำให้คนรู้ว่า “จะไปหาความรู้ได้ที่ไหน” สอนว่าจะคิดอย่างไร นี่คืออุดมคติสูงสุดของการเรียน ในแต่ละปีมีนักศึกษาไม่กี่คนที่ทำได้ถึงระดับนี้ ไม่ต้องพูดถึงในเมืองไทย

ผมขอยกตัวอย่าง จากหนังสือเล่มหนึ่ง “Guanxi (The Art of Relationships) : Microsoft, China, and Bill Gates’s Plan to Win the Road Ahead” ซึ่งเป็นเรื่องราวการเข้าไปลงทุนของ Microsoft ในจีน เพื่อเฟ้นหาคนเก่งชั้นเลิศ ไม่ใช่เก่งธรรมดา เพราะบริษัทชั้นเลิศ ย่อมต้องการพนักงานชั้นเลิศ “เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ” แต่แม้จะ Deal เฉพาะกับคนเก่งระดับครีมของจีน ก็ยังพบปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ นักศึกษาปริญญาเอกที่เก่งๆเหล่านั้น มักจะทำthesisปริญญาเอก ตามที่อาจารย์กำหนดมา ในขณะที่ “หัวหน้าศูนย์วิจัย” คนหนึ่ง ซึ่งเป็น “คนจีน” ที่ไปศึกษาต่อในอเมริกานั้น ตอนที่ทำปริญญาเอก เขาเกิดความคิดที่ขัดแย้งกับอาจารย์ แต่อาจารย์พูดว่าอะไรรู้มั้ย อาจารย์บอกว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับที่คุณทำ แต่ผมให้อิสระอย่างเต็มที่ในสิ่งที่คุณทำ” แล้วสุดท้าย งานชิ้นนั้นได้ผลออกมาดีมาก แต่ถ้าเมืองไทยจะเป็นอย่างไร “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ เพราะฉะนั้น คุณต้องไม่ทำ”

บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากเรื่องนี้ คือ “การคิดริเริ่ม (Creativity)” กับการคิดจากสิ่งที่คนอื่นริเริ่มให้นั้น มันมีความหมายแตกต่างกันมหาศาล แม้แต่ระดับสุดยอดของจีนแล้ว ก็ยังมีปัญหาในด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการพัฒนาประเทศนั้น ไม่ใช่แค่ฉลาดแล้วจะทำได้ บางครั้งมันยังขึ้นอยู่กับ “วัฒนธรรม” คือ ค่านิยมของจีนนั้น แม้ว่าจะปฏิรูปประเทศมานานแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลของ “ลัทธิขงจื้อ” อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น แม้แต่นักศึกษาปริญญาเอก ก็ยังต้องพึ่งพาอาจารย์ในการริเริ่มให้ ขณะที่นักศึกษาปริญญาเอกเหมือนกัน แต่ได้ไปใช้ชีวิตในอเมริกา กลับมีความคิดริเริ่ม ดังนั้น หลายครั้ง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ปัจเจกบุคคล แต่กลับเป็นวัฒนธรรมประเพณีของสังคม เป็นตัวปลูกฝังและขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ ความเก่งนั้นจึงได้แต่เป็น “ความเก่งในกรอบ” ถ้าไม่มีคนกำหนดกรอบมาให้ ก็ทำอะไรไม่เป็นเลย การจะทำให้คนในชาติรู้จักสร้างสรรค์ รู้จักริเริ่มสร้างผลงานของตนเองจากศูนย์นั้น มันต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย

ไม่ต้องพูดถึงเมืองไทย ที่ยังห่างไกลจากจุดนี้ อีกหลายขุม เอาแค่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้ดีเลิศ ตามที่อาจารย์กำหนดมาก็ยังยาก ไม่ต้องนับถึงการคิดริเริ่มเองตั้งแต่ต้น เพื่อนผมเคยตั้งคำถามกับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่าทำไมนักวิชาการไม่ทำวิจัย จริงๆแล้วอาจารย์มีหน้าที่ทำวิจัยเป็นหลักและสอนหนังสือเป็นรองใช่หรือไม่ ในระบบฝรั่งนั้น ถ้าคุณมาสมัครเป็นอาจารย์นั้น คุณจะยังไม่ได้รับการบรรจุจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ผลงาน แต่เพื่อนผมกลับโดนประณามว่าเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ด่าทอจนเพื่อนผมกลายเป็นคนไร้คุณธรรม เขายังเสริมอีกว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” ไม่ควรไปสนใจเรื่องวิจัย ควรจะไปสนใจอย่างอื่น เมืองไทยมันกลับตาลปัตรไปเช่นนี้ จึงทำให้ความรู้และการเรียนการสอนของเรา พัฒนาไปอย่างเชื่องช้ามาก

ย้อนกลับมาที่เมืองจีน ในอดีตที่อารยธรรมจีนรุ่งเรือง และเป็นเพียงไม่กี่อารยธรรมโบราณที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันก็เพราะมีคนจีนที่รู้จักสร้างสรรค์ เราจะเห็นว่าในอดีตคนจีนมีการประดิษฐ์คิดค้นอะไรมากมาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงภูมิปัญญา ปรัชญา การเมือง การปกครอง และรวมถึงศิลปะ

แต่จีนนั้นได้หยุดพัฒนาการมานาน และในโลกยุคใหม่ การอยู่เฉยๆ หรือพัฒนาอย่างช้าๆนั้น ก็จะถูกคนอื่นแซงไป ในเมืองจีนอาจจะมีคนจีนที่เก่งระดับสร้างสรรค์จำนวนหนึ่ง ยังห่างชั้นจากอเมริกาที่ปรับปรุงประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนเริ่มตั้งหลักได้ และกำลังพัฒนาตัวเองอย่างขนานใหญ่ เมื่อผนวกกับฐานเดิมที่จีนมีคนเก่งจำนวนมากอยู่แล้ว เพียงแต่บริหารเรื่องการสร้างวัฒนธรรมแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์เข้าไป จีนก็อาจจะผงาดมาเป็น “ประเทศศูนย์กลาง” สมกับที่พากเพียรวิริยะมาหลายสิบปี

ส่วนประเทศไทยนั้น ยังคงมีอัตราการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ต่ำยิ่ง จึงดูเหมือนว่าเรากำลัง “ขูดรีด” บรรพบุรุษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่ม “สยามหนุ่ม” นั้น ท่านและข้าราชบริพารได้ร่วมกันสร้างอะไรไว้มากมาย แต่ผ่านมาร้อยกว่าปี เราก็ไม่เคยคิดจะสร้างสิ่งใหม่ที่ก้าวล้ำไปกว่าท่านเลย เรากำลังขูดรีดสิ่งที่ท่านทำ กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ แต่ของตะวันตกนั้น เขามีกระบวนการเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปอย่างต่อเนื่อง คิดใหม่ไม่ได้ทั้งหมด ก็ขอให้ยกระดับต่อยอดก็ยังดี

สรุปแล้ว การโต้แย้งถกเถียงหรือวิพากษ์นั้น เมื่อฝึกฝนอย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยพัฒนาภูมิปัญญาแล้ว ยังเป็นรากฐานไปสู่กระบวนการคิดสร้างสรรค์ หรืออย่างน้อยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หากเราไม่มีจิตใจแห่งการวิพากษ์นั้น เราจะคล้ายชาวจีนในปัจจุบัน คือ แม้จะมีความฉลาดเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ต้องรอคนมาป้อนจุดเริ่มต้นให้ก่อน จึงสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปได้

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)
December 26, 2008
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

2. การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategy and Tactics)

หลังจากที่วางรากฐานระบบการหาความรู้แบบวิพากษ์สร้างสรรค์แล้ว เราจะยกระดับไปสู่การเรียนรู้ในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งชนชาติที่ล้ำเลิศที่สุดก็คือ “จีน” ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ลองดูแผนที่ประเทศจีน คุณจะรู้ว่ามันมีภูมิประเทศแตกต่างกันมาก การเข้ายึด การโจมตี การวางกำลัง ณ จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งหมด ล้วนเอื้อต่อการขบคิดเชิงกลยุทธ์ เพราะฉะนั้น คนจีนจะเก่งค้านนี้ คนจีนทำมาหากิน เอาตัวรอดได้เสมอ สร้างเนื้อสร้างตัวอะไรต่างๆมากมาย แต่มันจะเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวในเชิงกลยุทธ์มากกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Creative) แต่ในอนาคตจะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างล้วนถูกสร้างไว้หมดแล้ว คุณต้องครีเอทของใหม่

ขณะเดียวกัน การที่อารยธรรมกรีก ซึ่งเป็นชาติที่ถนัดในการคิดสร้างสรรค์นั้น กลับขาดความจัดเจนในด้านกลยุทธ์ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมนี้ต้องล่มสลายไปในที่สุด ดังนั้น ทั้งความฉลาดเชิงการวิพากษ์สร้างสรรค์ และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

3. การคิดเชิงประโยชน์ใช้สอยและผลกำไร (Utility and Profitability)

ในอนาคต ลำพังความฉลาดสร้างสรรค์และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ ยังอาจไม่เพียงพอ เรายังต้องรู้จักการดัดแปลงความฉลาดทั้งสองด้านให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้จริง(Utility)ไม่ใช่สร้างแต่สิ่งสูงส่งเลอเลิศ แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของมวลมนุษยชาติ และในด้านความฉลาดเชิงประโยชน์ใช้สอยนั้น คงไม่มีชาติใดโดดเด่นเท่าเทียม “อเมริกา” ซึ่งมีจุดเด่นในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ อเมริกาเป็นชาติที่มีธุรกิจแหวกแนวล้ำสมัย และยังเจริญเติบโตรุ่งเรืองอีกด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ Google, eBay, Microsoft รวมไปถึง Starbucks ธุรกิจเก่าที่เอามาทำให้ใหม่

สำหรับคำว่า Profitability นั้น คนไทยโดยมากก็จะมองในด้านลบ เช่นเดียวกับคำว่า Debate and Discussion ตามที่เราได้อธิบายอย่างละเอียดไปในตอนต้นแล้ว ความจริงแล้วคำนี้มีประโยชน์มาก เพราะคนที่ขาดความเจนจัดในชีวิต มักจะมองเพียงผิวเผินว่า ขอเพียงสร้างของดีมีคุณค่า ก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่ในโลกความจริงนั้น ของดีมีคุณค่า แต่ไม่สามารถสร้างผลกำไรหรือ Profitability ได้ ย่อมจะไม่ยั่งยืน สินค้าที่ดีเลิศจำนวนมาก ต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย ก็เพราะขาดการคิดในเชิง Profitability เราต้องไม่ลืมว่า โลกใบนี้คือโลกแห่งการพัฒนา (Evolution World) แต่หากธุรกิจหรือสินค้านั้นไม่มีทรัพยากรสนับสนุน ไม่มีกำไรจากการดำเนินงานมาหล่อเลี้ยง การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในที่สุด สินค้าและบริการนั้น ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย และถูกคู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไป

Profitability จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะกำไรจากการดำเนินงาน คือ ทรัพยากรที่จะนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ตลอดเวลา แต่การที่ Profitability ในเมืองไทย ถูกประเมินแต่ด้านลบ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ ไม่นำผลกำไรมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อย่างมากก็นำไปขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิต หรือนำไปใช้สร้างธุรกิจใหม่ มีส่วนน้อยมากที่จะนำเงินกำไรนี้มา “วิจัยและพัฒนา” เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรโลกได้มากยิ่งขึ้น

วัยรุ่นที่จิตใจร้อนแรง ยังมีประสบการณ์บนโลกไม่มากนัก จะต้องถูกฝึกฝนให้เข้าใจในจุดนี้ แน่นอนว่า การสร้างของดีมีคุณค่า (Value) ย่อมเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญ แต่หากสิ่งที่มีคุณค่านั้นไม่อาจตอบสนองความต้องการของสังคม (Utility) สิ่งนั้นยังไม่นับว่าดีถึงที่สุด แน่นอนว่า หลายครั้ง สังคมก็อาจตัดสินประเมินค่าสรรพสิ่งอย่างผิดพลาด จนทำให้ของดีมีคุณค่า (Value) ถูกละเลยทอดทิ้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่ผลิตภัณฑ์ซึ่งเราคิดว่ามีคุณค่า Value กลับได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาและบริบทสังคมว่า ยังไม่มีคุณค่าที่เพียงพอ ดังนั้น การตรวจสอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ย่อมต้องอาศัย Utility เป็นตัวทดสอบเบื้องต้น แน่นอนว่า หากเราเชื่อมั่นใน Value ของผลิตภัณฑ์ ย่อมสามารถยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ และในยุคคลื่นลูกที่ 3 ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ย่อมได้รับการประเมินค่าใหม่ (Revalue) อย่างรวดเร็วแน่นอน

ในโลกที่สลับซับซ้อนนั้น บางครั้งการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ(Utility) ได้สำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองด้านผลกำไรจากมนุษยชาติ (Profitability) นับเป็นกรณีที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ บางครั้งอาจเป็นได้ว่า สินค้าชนิดนี้แม้ว่าจะสร้างรายได้มหาศาล แต่กลับมีต้นทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจเกิดจากความสามารถในการสนับสนุนของลูกค้าเป้าหมายมีกำลังไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดย่อมนำมาซึ่งความสั่นคลอนของผลิตภัณฑ์ในระยะยาว รวมถึงการนำผลกำไรกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภายหลัง

Profitability จึงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี บางครั้ง การเน้นสร้างแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า Value มากเกินไป ได้กลับเป็นภัยต่อมนุษยชาติ เพราะผลิตภัณฑ์นั้นสิ้นเปลื้องทรัพยากรของโลกไปสร้างขึ้นมา แต่กลับไม่อาจตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ (Utility) ได้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป เช่นเดียวกัน การเน้นแต่ประโยชน์ใช้สอยมากเกินไป (Utility) ย่อมอาจสร้างความเสียหายต่อโลกได้ เพราะลืมนึกถึง “ต้นทุน” ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การคิดถึงแต่ Profitability มากเกินไป ก็อาจทำให้เราละเลยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งบางครั้งอาจยังไม่ได้รับความนิยมจากสังคมในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกำไร (Profit) และ ประโยชน์ใช้สอย (Utility) ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล

4. การทำงานด้วยความสุข (Happiness of Work)

ความร่ำรวยแบบอเมริกานั้น ไม่อาจได้มาโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน มหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์ ทำงานหนักกว่าเราเสียอีก วันหนึ่งอาจจะ 16-18 ชั่วโมง แต่ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้ต้องการความร่ำรวยในรูปแบบนี้ ผมจึงปรับภูมิปัญญาทั้งหมดให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย โดยพยายามผสานภูมิปัญญาไทยเข้าไปผสมด้วยอย่างลงตัว

คนไทยนั้น แม้ไม่ได้ทำงานหนักเคร่งเครียดแบบคนอเมริกัน แต่เราก็ยังอยู่รอดและสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่ร่ำรวยเลอเลิศ แต่ก็มีชิวิตสะดวกสบายและมีความสุข

ภูมิปัญญาสี่แบบของสี่ประเทศนี้ ผมจะนำมาสรุปสังเคราะห์ใน Wisdom House และเชื่อว่าภูมิปัญญาเช่นนี้ ยังไม่เคยมีสถาบันใดได้เคยสร้างสรรค์มาก่อน สำหรับ มหาวิทยาลัยในยุโรป ผมก็คิดว่าจะเน้นไปที่ข้อ 1 คือ การวิพากษ์สร้างสรรค์แบบกรีก-โรมัน ถ้าเป็นอเมริกาก็เป็นเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ส่วนเรื่องกลยุทธเลิศล้ำของชาวจีนก็เพิ่งผนวกเข้ามาเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แม้กระนั้น ผมยังประเมินว่าพวกเขายังทำได้ไม่ถึงแก่น เช่นเดียวกัน ความสะดวกสบายรื่นเริงแบบคนไทย ไม่เคร่งเครียดจริงจังกับชีวิตจนเสียสมดุล ตรงนี้ผมคิดว่าฝรั่งอาจจะขาดแคลนไป

ยิ่งกว่านั้น ผมก็คิดว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แม้แต่ในอเมริกา ยังคงไม่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการ ผมคิดว่ายังขาดส่วนเสี้ยวสำคัญบางประการไป อาจจะเพราะว่าอาจารย์ที่มาสอน ส่วนใหญ่เป็นแต่อาจารย์แท้ๆ ไม่ได้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ขณะเดียวกัน การประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคม เข้าใจประวัติศาสตร์และความเป็นมา ผมคิดว่าบทเรียนทางประวัติศาสตร์มีผลมากต่อการวิเคราะห์อนาคต แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญในส่วนนี้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือบริบทสังคม เพื่อตัวมันเอง ไม่ได้ศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้

Wisdom Houseรวบรวมภูมิปัญญาทั้งหมด ประสานจุดเด่นของภูมิปัญญาโลกเข้าด้วยกันแล้วสังเคราะห์มาให้ท่าน แต่สุดท้ายท่านจะต้องประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถมาป้อนให้ท่านทุกที่ทุกเวลา แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำจะสามารถป้อนให้ท่านได้ถึง 70% ส่วนอีก 30% ให้ท่านเสริมเข้าไปเอง สิ่งที่ผมใส่เข้าไปให้นั้น จะเสริมความแข็งแกร่งอุดช่องโหว่ให้ท่าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ลูกอาเสี่ย” ถ้ารอให้อาเสี่ยตาย ถึงแม้จะสร้างทีมงานไว้ให้เจ้าสัวน้อยเรียบร้อยแล้วแต่สุดท้ายก็ตามสูตรเลย เจ้าสัวน้อยจะเขี่ยคนเก่งๆนั้นทิ้งไป แล้วเอาคนไม่เก่งแต่ขี้ประจบเข้ามาแทน

ถ้าเราสอนให้เจ้าสัวน้อยคิดเองเป็น หากอาเสี่ยตายไปก่อนที่ยังไม่ได้สร้างทีมไว้ให้เลย เจ้าสัวน้อยยังสามารถหาคนเก่งเข้ามาเสริมได้เอง นี่ผมคิดยาวไกลมากเลย ไม่ได้มองแค่คนที่กำลังสร้างตัวเท่านั้น แต่เลยไปถึงคนที่พยายามรักษาสถานะความสำเร็จไว้ “ก้าวเป็นที่หนึ่งนั้นยาก แต่รักษาความเป็นที่หนึ่งกลับยากยิ่งกว่า”

ยิ่งกว่านั้นคือ ในสภาวะที่จิตใจและสังคมเข้าสู่ภาวะคลื่นลูกที่สี่นั้น คนเราจะมีภาวะสับสนในจิตใจ บางทีมีเงิน แต่กลับเต็มไปด้วยทุกข์ มีเงินแต่รู้สึกชีวิตอ้างว้างโดดเดี่ยว เราจะสอนวิธีคิดที่เข้าใจความหมายของชีวิตแบบล้ำลึก แต่ไม่เพ้อฝัน ไม่ใช่พูดแต่เรื่องดีๆ เราจะสอนแก่นแท้แห่งความเป็นจริง

นี่คือ Wisdom House ที่ผมพยายามพัฒนาขึ้นมา

Dr.Somkiat-1