WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Wisdom House : สถานสิกขาของจอมคน

Wisdom House : สถานสิกขาของจอมคน
December 12, 2008
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

ในโลกอนาคต ภูมิปัญญาแบบ Wisdom จะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า นับจากนี้ โลกจะแข่งขันกันรุนแรงมาก เมืองไทยต้องหันมาทบทวนตัวเอง เราต้องผลิตคนที่มีความคิดลึกซึ้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม


ลองดูตัวอย่างในอเมริกา ระบบสังคมเศรษฐกิจการเมือง ล้วนแต่สนับสนุนให้ผู้คนขบคิดอย่างลึกซึ้ง เยาวชนอายุ 16-17 ปี ต่างต้องเริ่มต้นดิ้นรนในชีวิตกันแล้ว มันมีระบบบางอย่างที่บีบบังคับให้วัยรุ่นต้องคิดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องการช่วยเหลือตัวเอง แต่เมืองไทยนั้น “สบายจนเคยตัว” ทำให้เด็กไทยมีปัญหาชีวิตมากมาย อ่อนแอและเปราะบางทางจิตใจ ไม่มีหลักยึดในการดำรงชีวิต เคว้งคว้าง ลอยไปลอยมา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็มีปัญหาในการทำงาน การพัฒนาผลงานให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นับจากนี้ไป โลกาภิวัตน์จะไม่อนุญาตให้เราปิดตัวเอง แข่งขันกันในประเทศเหมือนอย่างเดิมอีกต่อไป

ผมเลยคิดวิธีการที่จะมาช่วยเหลือวัยรุ่นไทยและผู้ปกครองทั้งหลาย ถ้ามีระบบตรงนี้ เราจะสบายกว่าอเมริกา เพราะการดิ้นรนด้วยตัวเองเทียบกับการมีคนชี้แนะนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า แนวทางใดใช้เวลาน้อยกว่ากัน เพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่ากัน วัยรุ่นอายุ 16-17 ให้มาดิ้นรนต่อสู้ อย่างดีก็พัฒนาได้เท่าเด็กอเมริกา แถมยังจะเสียเปรียบอีกด้วย เพราะระบบสังคม ระบบความรู้ ระบบดิ้นรนต่อสู้ ที่คอยสนับสนุนขัดเกลาวัยรุ่นนั้น ประเทศเราไม่เอื้อต่อการฝึกฝนความฉลาดประเภทนี้เอาเสียเลย

สำหรับ Wisdom House หรือ สถานสิกขาจอมคน ที่ต้องการนำเสนอนั้น จะสรุปบทเรียนทั้งหมดมาเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถนำมาพัฒนาเยาวชนไทยได้เลย พร้อมกับแบบฝึกหัดให้ฝึกฝนตนเอง แต่สุดท้ายผู้เรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้จาก wisdom house ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประวัน เราหยิบยื่นบทเรียนให้แล้ว คุณต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย แต่การเอาไปใช้นั้น มันง่ายกว่าดิ้นรนเองแบบเด็กอเมริกัน ที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์

Wisdom ที่ใช้ในบริบทนี้ มันไม่ใช่ คำไทย ที่แปลว่า ปฏิภาณ หรือ ความเฉลียวฉลาด แต่เป็นทั้งปฏิภาณและความเฉลียวฉลาด ผสมผสานกันอย่างลงตัว ยิ่งกว่านั้น เรานิยามเพิ่มไปด้วยว่า คือ การคิดใหม่ ไม่ติดในกรอบเดิม (rethink) รู้จักปรับเปลี่ยนประเมินค่าสรรพสิ่งด้วยสายตาสดใหม่ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (revalue) แต่นั่นยังไม่พอ เราต้องการให้ Wisdom House ของเรา กินความรวมถึง การรู้จักคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ แต่การคิดสร้างสรรค์นั้น ไม่ใช่การคิดเพ้อฝัน สะเปะสะปะ แต่ต้องตอบสนองความต้องการของเพื่อนร่วมโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางวัตถุและจิตใจ profitability จึงเป็นสิ่งที่มาช่วยเสริมให้ Wisdom ของเรามีคุณภาพลึกล้ำมากขึ้น สุดท้ายแล้ว คนรุ่นใหม่จะต้องฝึกฝนการคิดบวก(positive thinking) ให้กลายเป็นนิสัย เพราะการจะสร้างสรรค์โลกได้นั้น เราต้องมีพลังและความสนุกในการที่จะดำรงชีวิตเสียก่อน

แต่การคิดในแง่บวกนั้น จะต้องคิดอย่างถูกวิธีด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่า “คิดบวก” ผมเคยเห็นหนังสือ How to เล่มหนึ่งที่โด่งดังมาก The Secret คนทั่วไปอ่านแล้วชอบทันที เพราะโปรโมตกันอย่างเป็นระบบ ที่อเมริกาโด่งดังมาก ก่อนหน้านี้ผมเคยเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ZigZag เห็นหน้าปกแล้ว “สุนทรีย์” มาก แต่เมื่อเปิดมาเจอเนื้อในแล้ว ให้ความรู้สึกที่หดหู่ เขาพูดประมาณว่า “สตาร์บัคทำได้เพราะใจรัก” ผมคิดว่า “ใจรัก” เป็นสิ่งสำคัญ แต่มันต้องมีอะไรมากมายกว่านั้น ซึ่งถ้าคนอ่านเพียงแค่นี้ หลงชื่อแล้วไปทำตาม ก็พินาศเลยนะ

The Secret มันเข้าไปจับหัวใจคน คือ อธิษฐาน อธิษฐาน อธิษฐาน มันคล้ายๆกับ Starbucks ใจรักแล้วคุณจะสำเร็จ คิดแบบนี้ก็ช่วยเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิม แต่ในความเป็นจริงมันต้องมีหลายอย่าง ถึงจะทำได้สำเร็จ ต้องทำงานหนัก ต้องกล้าเสี่ยง ต้องกล้าเผชิญหน้า คือมันมีอะไรมากกว่าความรักอย่างเดียว

Positive thinking นี่ต้องระวังนะ รู้มั้ยอะไรคือแรงบันดาลใจที่ผมจะตั้ง wisdom house เพราะมันมี wisdom house ปลอมๆที่หลอกหลวงคนไทยเยอะมาก ที่พร้อมจะหลอกให้ท่านไปทางผิด บางทีผมแอบคิดแบบแกมโกง(evil) “ก็ดีนะ หลอกคนอื่นไปทางผิด เรารู้ทางถูกเราจะได้รวยคนเดียว” แต่เอาเข้าจริงผมก็ไม่ใจดำอำมหิตเพียงพอ เมื่อพบอะไรดีๆ เด็ดๆ ก็อยากจะมาแบ่งปันช่วยเหลือกัน ตามประสาคนไทยด้วยกัน

Wisdom house ที่ผมมุ่งมั่นจะทำให้เป็นสถาบันในการเจียระไน วัยรุ่นไทย ให้กลายเป็น “จอมคน” เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น ผมคิดไว้ว่าจะหลอมรวมภูมิปัญญาต่างๆที่เคยสัมผัส มากลั่นผลึกเป็นบทเรียนให้ร่วมฝึกฝนเรียนลัดกัน จุดประสงค์คือ จะสร้างวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ซึ่งมุ่งสู่ความมั่งคั่งใหม่อย่างชาญฉลาด ที่สำคัญ จะกินความรวมถึงการใช้ชีวิตอย่าง “สุขสมรื่นรมย์” อีกด้วย

ผมเห็นหนังสือ How to จำนวนมาก ที่พูดถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่จริงๆแล้วพวกนี้ไม่เข้าใจจริงๆว่า “ความสุขคืออะไร” แม้แต่การเข้าถึงความสุข ก็ต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ว่ามีเงินมากมายแล้วจะมีความสุขได้ง่ายๆ บางคนคิดเลยเถิดไปถึงว่า “คนจน” คือ คนที่มีความสุข ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่เตลิดเปิดเปิง จริงๆแล้ว รวยหรือจน มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ความสุข” แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ สิ่งที่กำหนด “ความสุข” ก็คือ การพัฒนา “ปัญญา” เพื่อให้รู้เท่าทันตัวเอง รู้ว่าจะจัดการชีวิตอย่างไรให้มีความสุขเปี่ยมล้น ในวันคืนแสนสั้นของเรานั้น

หลักสูตรที่ผมร่างไว้นี้ ใครจะเลียนแบบไปใช้ ทั้งในเชิงส่วนตัว หรือเชิงธุรกิจการค้า ผมก็ไม่ว่ากัน หากมีความสงสัยหรือคำแนะนำอันใด สามารถโทรมาปรึกษาผมได้เสมอ

1. การวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Critical and Creative)

เริ่มต้นปูพื้นด้วยระบบการเรียนการสอนแบบคลาสสิคของชาวกรีก-โรมัน ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมเริ่มแรกที่ให้ความสนใจในการสร้างระบบเรียนรู้ของปัจเจกบุคคลและสังคม ผ่านการใช้ปัญญาอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผล หลุดพ้นจากการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หรือศรัทธาสิ่งใดอย่างงมงาย ปลอดพ้นจากการไต่สวนตรึกตรองให้รอบคอบ

การไตร่ตรองเหตุผลนั้น คนไทยจำนวนมาก ล้วนเข้าใจผิดว่า ต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ ที่สลับซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว หากเราแม่นยำในหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้องแล้ว คณิตศาสตร์ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป แน่นอนว่า คณิตศาสตร์ช่วยทำให้ความคิดเป็นรูปร่าง จับต้องได้ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาด การยึดติดกับคณิตศาสตร์มากเกินไป บางครั้งกลับกลายเป็นผลร้าย เพราะเท่ากับไปสร้าง “ความงมงาย” ชุดใหม่ขึ้นมา โดยไม่รู้ตัว

ใช่หรือไม่ว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่กำลังคุกคามชาวโลกอยู่ในขณะนี้ ได้เริ่มต้นจากความศรัทธาในคณิตศาสตร์และสมการอันสลับซับซ้อนซึ่งสามารถ “เสกสรรค์” ตราสาร Subprime ซึ่งแต่เดิมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้กลับกลายเป็นสินทรัพย์ชั้นดีไปได้ในชั่วข้ามปี หากเมื่อมนต์เสน่ห์ของคณิตศาสตร์ได้เลือนหายไป หายนะภัยของความลุ่มหลง ก็ได้ปรากฏชัดเจนเจ็บปวดยิ่งในปัจจุบัน

ปัญญาของ “กรีก-โรมัน” นั้น เริ่มต้นด้วยการ “ถกเถียงและโต้แย้งอย่างเป็นระบบ” ในตอนที่ผมเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์นั้น นับเป็นโชคดีของผมที่ได้ตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์กับ รศ.ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ ท่านจะสอนสั่งผมเสมอว่า ในระบบการเรียนการสอนของตะวันตกนั้น จะมีจุดแข็งที่กระบวนการ debate and discussion ผมขอแปลตรงๆแบบไม่เกรงใจว่า “โต้แย้งถกเถียง” แต่อย่าพึ่งอคติในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ แม้ชื่อจะดูไม่ดี แต่มันมีคุณประโยชน์สำคัญบางประการ ซึ่งผมคิดว่าเมืองไทยยังอ่อนด้อยในเรื่องนี้ เพราะคนกลุ่มหนึ่งจะไม่เห็นด้วยเลย กลัวว่าจะกลายเป็นชนวนให้คนในสังคมทะเลาะกัน แต่นั่นเพราะเรายังไม่เข้าถึงวิธีการที่แท้จริง ซึ่งสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย

ลองศึกษาวิธีการที่ทีมงาน SIU ของเราได้ประยุกต์ใช้หลักการ Debate and Discussion แน่นอนว่า อาจไม่เหมือนกับต้นฉบับแท้ของฝรั่ง เราได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนไทย แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งจุดแข็งของกระบวนการนี้ อยากให้ทุกคนได้ลองติดตามรายการ practical Utopia โดยเฉพาะตอนแรกๆ ที่เน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่มทีมงาน (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเน้นสัมภาษณ์แขกรับเชิญ) พวกเราล้วนถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ การวิพากษ์อย่างถูกวิธีจะทำให้ “ทุกคน” ได้รับอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเสมอ

ทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถทำได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์นั้น ต้องใช้ คุณสมบัติบางประการ โดยเฉพาะการมองโลกอย่างหลากหลาย เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แต่คนส่วนใหญ่นั้น เมื่อปักใจเชื่ออะไรแล้ว ก็มักจะเทไปในทางนั้นจนหมดตัว ตัวอย่างเช่น หลักคิดแบบ positive thinking ถ้าคนที่ไม่ชอบ หรือเคยประสบกับด้านลบของวิธีคิดแบบนี้มาก่อน ก็จะมองหลักคิดแบบนี้ในแบบแง่ร้ายไปเลย ขณะที่บางคนซึ่งเคยมีประสบการณ์ดีๆกับวิธีคิดแบบนี้ ก็จะเชื่อสนิทใจไปเลย ไม่เคยไตร่ถามถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องเลย

ยิ่งกว่านั้น คนไทยส่วนใหญ่จะติดภาพการโต้แย้งถกเถียงของ สส.ในรัฐสภา ยิ่งดูก็ยิ่งวุ่นวาย แต่เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า การขัดแย้งของ สส. ในสภาพนั้น มันเป็นการโต้เถียงที่ไม่เกิดประโยชน์ เป็นการโต้เถียงโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง หรือพูดให้แรงกว่านั้น คือ การโต้เพื่อตบทรัพย์ และคนที่เสียหายก็ไม่ใช่ใคร คือ ประเทศชาติโดยรวมนั่นเอง สส. เหล่านี้ก็มมี Wisdom เหมือนกัน แต่เป็น Wisdom ในด้านที่ไม่ดี คือ การหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใช่ Wisdom ที่สร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ

ในความหมายของผมนั้น การทำเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็น wisdom เพราะมันไม่ทำให้เกิด positive externality หรือเกิดผลประโยชน์ต่อภายนอก wisdom house ที่ผมตั้งใจจะสร้างขึ้นเพื่อประเทศไทยนั้นจะต้องเกิดผลเชิงบวกต่อภายนอกด้วย ไม่ใช่แค่ก่อให้เกิดกำไรอย่างเดียว ต้องส่งผลสะท้อนยาวไกล

Wisdom ที่แท้จริงนั้น จะต้องนำไปสู่ภาวะ win-win คือ สร้างประโยชน์ให้ตนเอง แล้วต้องสานประโยชน์นั้นไปสู่ผู้อื่นด้วย แต่ถ้าให้ดีต้องทำให้ดีเลิศ (Best) ไม่ใช่ดีธรรมดา (Good) หากเราทำให้ผลงานของเราดีกว่ามาตรฐาน มันจะส่งผลยาวไกลไปถึงลูกหลาน หลายgeneration หลายชั่วอายุคน

หลักสูตรของ Wisdom House จึงต้องเริ่มต้นด้วย การถกเถียงโต้แย้งแบบกรีก-โรมัน แต่จะไม่โต้แย้งแบบในสภา จะไม่โต้แย้งแบบการประชุมทั่วไป แต่เราจะโต้แย้งด้วยความสนุกสนาน โดยเรามีตัวอย่างให้เห็นในรายการ Practical Utopia ของเรา “ความสนุกสนาน” เพราะหากถกเถียงแล้วเคร่งเครียด เราจะทำได้ไม่นาน เพราะมันเป็นความทุกข์ เราต้องทำให้การถกเถียงนั้น ได้ทั้งความรู้และความสุขด้วย

การถกเถียงเป็นกระบวนการหาความรู้ที่ยอดเยี่ยมชนิดหนึ่ง เพราะมันนำไปสู่ “กระบวนการคิดได้ด้วยตนเอง” อาจารย์ผมเคยพูดไว้ว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่การเรียนที่สอนเนื้อหาหรือผลลัพธ์ แต่เป็นการสอนที่จะทำให้คนรู้ว่า “จะไปหาความรู้ได้ที่ไหน” สอนว่าจะคิดอย่างไร นี่คืออุดมคติสูงสุดของการเรียน ในแต่ละปีมีนักศึกษาไม่กี่คนที่ทำได้ถึงระดับนี้ ไม่ต้องพูดถึงในเมืองไทย

ผมขอยกตัวอย่าง จากหนังสือเล่มหนึ่ง “Guanxi (The Art of Relationships) : Microsoft, China, and Bill Gates’s Plan to Win the Road Ahead” ซึ่งเป็นเรื่องราวการเข้าไปลงทุนของ Microsoft ในจีน เพื่อเฟ้นหาคนเก่งชั้นเลิศ ไม่ใช่เก่งธรรมดา เพราะบริษัทชั้นเลิศ ย่อมต้องการพนักงานชั้นเลิศ “เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ” แต่แม้จะ Deal เฉพาะกับคนเก่งระดับครีมของจีน ก็ยังพบปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ นักศึกษาปริญญาเอกที่เก่งๆเหล่านั้น มักจะทำthesisปริญญาเอก ตามที่อาจารย์กำหนดมา ในขณะที่ “หัวหน้าศูนย์วิจัย” คนหนึ่ง ซึ่งเป็น “คนจีน” ที่ไปศึกษาต่อในอเมริกานั้น ตอนที่ทำปริญญาเอก เขาเกิดความคิดที่ขัดแย้งกับอาจารย์ แต่อาจารย์พูดว่าอะไรรู้มั้ย อาจารย์บอกว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับที่คุณทำ แต่ผมให้อิสระอย่างเต็มที่ในสิ่งที่คุณทำ” แล้วสุดท้าย งานชิ้นนั้นได้ผลออกมาดีมาก แต่ถ้าเมืองไทยจะเป็นอย่างไร “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ เพราะฉะนั้น คุณต้องไม่ทำ”

บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากเรื่องนี้ คือ “การคิดริเริ่ม (Creativity)” กับการคิดจากสิ่งที่คนอื่นริเริ่มให้นั้น มันมีความหมายแตกต่างกันมหาศาล แม้แต่ระดับสุดยอดของจีนแล้ว ก็ยังมีปัญหาในด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการพัฒนาประเทศนั้น ไม่ใช่แค่ฉลาดแล้วจะทำได้ บางครั้งมันยังขึ้นอยู่กับ “วัฒนธรรม” คือ ค่านิยมของจีนนั้น แม้ว่าจะปฏิรูปประเทศมานานแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลของ “ลัทธิขงจื้อ” อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น แม้แต่นักศึกษาปริญญาเอก ก็ยังต้องพึ่งพาอาจารย์ในการริเริ่มให้ ขณะที่นักศึกษาปริญญาเอกเหมือนกัน แต่ได้ไปใช้ชีวิตในอเมริกา กลับมีความคิดริเริ่ม ดังนั้น หลายครั้ง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ปัจเจกบุคคล แต่กลับเป็นวัฒนธรรมประเพณีของสังคม เป็นตัวปลูกฝังและขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ ความเก่งนั้นจึงได้แต่เป็น “ความเก่งในกรอบ” ถ้าไม่มีคนกำหนดกรอบมาให้ ก็ทำอะไรไม่เป็นเลย การจะทำให้คนในชาติรู้จักสร้างสรรค์ รู้จักริเริ่มสร้างผลงานของตนเองจากศูนย์นั้น มันต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย

ไม่ต้องพูดถึงเมืองไทย ที่ยังห่างไกลจากจุดนี้ อีกหลายขุม เอาแค่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้ดีเลิศ ตามที่อาจารย์กำหนดมาก็ยังยาก ไม่ต้องนับถึงการคิดริเริ่มเองตั้งแต่ต้น เพื่อนผมเคยตั้งคำถามกับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่าทำไมนักวิชาการไม่ทำวิจัย จริงๆแล้วอาจารย์มีหน้าที่ทำวิจัยเป็นหลักและสอนหนังสือเป็นรองใช่หรือไม่ ในระบบฝรั่งนั้น ถ้าคุณมาสมัครเป็นอาจารย์นั้น คุณจะยังไม่ได้รับการบรรจุจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ผลงาน แต่เพื่อนผมกลับโดนประณามว่าเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ด่าทอจนเพื่อนผมกลายเป็นคนไร้คุณธรรม เขายังเสริมอีกว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” ไม่ควรไปสนใจเรื่องวิจัย ควรจะไปสนใจอย่างอื่น เมืองไทยมันกลับตาลปัตรไปเช่นนี้ จึงทำให้ความรู้และการเรียนการสอนของเรา พัฒนาไปอย่างเชื่องช้ามาก

ย้อนกลับมาที่เมืองจีน ในอดีตที่อารยธรรมจีนรุ่งเรือง และเป็นเพียงไม่กี่อารยธรรมโบราณที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันก็เพราะมีคนจีนที่รู้จักสร้างสรรค์ เราจะเห็นว่าในอดีตคนจีนมีการประดิษฐ์คิดค้นอะไรมากมาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงภูมิปัญญา ปรัชญา การเมือง การปกครอง และรวมถึงศิลปะ

แต่จีนนั้นได้หยุดพัฒนาการมานาน และในโลกยุคใหม่ การอยู่เฉยๆ หรือพัฒนาอย่างช้าๆนั้น ก็จะถูกคนอื่นแซงไป ในเมืองจีนอาจจะมีคนจีนที่เก่งระดับสร้างสรรค์จำนวนหนึ่ง ยังห่างชั้นจากอเมริกาที่ปรับปรุงประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนเริ่มตั้งหลักได้ และกำลังพัฒนาตัวเองอย่างขนานใหญ่ เมื่อผนวกกับฐานเดิมที่จีนมีคนเก่งจำนวนมากอยู่แล้ว เพียงแต่บริหารเรื่องการสร้างวัฒนธรรมแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์เข้าไป จีนก็อาจจะผงาดมาเป็น “ประเทศศูนย์กลาง” สมกับที่พากเพียรวิริยะมาหลายสิบปี

ส่วนประเทศไทยนั้น ยังคงมีอัตราการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ต่ำยิ่ง จึงดูเหมือนว่าเรากำลัง “ขูดรีด” บรรพบุรุษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่ม “สยามหนุ่ม” นั้น ท่านและข้าราชบริพารได้ร่วมกันสร้างอะไรไว้มากมาย แต่ผ่านมาร้อยกว่าปี เราก็ไม่เคยคิดจะสร้างสิ่งใหม่ที่ก้าวล้ำไปกว่าท่านเลย เรากำลังขูดรีดสิ่งที่ท่านทำ กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ แต่ของตะวันตกนั้น เขามีกระบวนการเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปอย่างต่อเนื่อง คิดใหม่ไม่ได้ทั้งหมด ก็ขอให้ยกระดับต่อยอดก็ยังดี

สรุปแล้ว การโต้แย้งถกเถียงหรือวิพากษ์นั้น เมื่อฝึกฝนอย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยพัฒนาภูมิปัญญาแล้ว ยังเป็นรากฐานไปสู่กระบวนการคิดสร้างสรรค์ หรืออย่างน้อยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หากเราไม่มีจิตใจแห่งการวิพากษ์นั้น เราจะคล้ายชาวจีนในปัจจุบัน คือ แม้จะมีความฉลาดเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ต้องรอคนมาป้อนจุดเริ่มต้นให้ก่อน จึงสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปได้

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)

Wisdom House: สถานสิกขาของจอมคน (ตอนที่ 2)
December 26, 2008
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

2. การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategy and Tactics)

หลังจากที่วางรากฐานระบบการหาความรู้แบบวิพากษ์สร้างสรรค์แล้ว เราจะยกระดับไปสู่การเรียนรู้ในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งชนชาติที่ล้ำเลิศที่สุดก็คือ “จีน” ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ลองดูแผนที่ประเทศจีน คุณจะรู้ว่ามันมีภูมิประเทศแตกต่างกันมาก การเข้ายึด การโจมตี การวางกำลัง ณ จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งหมด ล้วนเอื้อต่อการขบคิดเชิงกลยุทธ์ เพราะฉะนั้น คนจีนจะเก่งค้านนี้ คนจีนทำมาหากิน เอาตัวรอดได้เสมอ สร้างเนื้อสร้างตัวอะไรต่างๆมากมาย แต่มันจะเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวในเชิงกลยุทธ์มากกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Creative) แต่ในอนาคตจะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างล้วนถูกสร้างไว้หมดแล้ว คุณต้องครีเอทของใหม่

ขณะเดียวกัน การที่อารยธรรมกรีก ซึ่งเป็นชาติที่ถนัดในการคิดสร้างสรรค์นั้น กลับขาดความจัดเจนในด้านกลยุทธ์ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมนี้ต้องล่มสลายไปในที่สุด ดังนั้น ทั้งความฉลาดเชิงการวิพากษ์สร้างสรรค์ และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

3. การคิดเชิงประโยชน์ใช้สอยและผลกำไร (Utility and Profitability)

ในอนาคต ลำพังความฉลาดสร้างสรรค์และความฉลาดเชิงกลยุทธ์ ยังอาจไม่เพียงพอ เรายังต้องรู้จักการดัดแปลงความฉลาดทั้งสองด้านให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้จริง(Utility)ไม่ใช่สร้างแต่สิ่งสูงส่งเลอเลิศ แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของมวลมนุษยชาติ และในด้านความฉลาดเชิงประโยชน์ใช้สอยนั้น คงไม่มีชาติใดโดดเด่นเท่าเทียม “อเมริกา” ซึ่งมีจุดเด่นในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ อเมริกาเป็นชาติที่มีธุรกิจแหวกแนวล้ำสมัย และยังเจริญเติบโตรุ่งเรืองอีกด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ Google, eBay, Microsoft รวมไปถึง Starbucks ธุรกิจเก่าที่เอามาทำให้ใหม่

สำหรับคำว่า Profitability นั้น คนไทยโดยมากก็จะมองในด้านลบ เช่นเดียวกับคำว่า Debate and Discussion ตามที่เราได้อธิบายอย่างละเอียดไปในตอนต้นแล้ว ความจริงแล้วคำนี้มีประโยชน์มาก เพราะคนที่ขาดความเจนจัดในชีวิต มักจะมองเพียงผิวเผินว่า ขอเพียงสร้างของดีมีคุณค่า ก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่ในโลกความจริงนั้น ของดีมีคุณค่า แต่ไม่สามารถสร้างผลกำไรหรือ Profitability ได้ ย่อมจะไม่ยั่งยืน สินค้าที่ดีเลิศจำนวนมาก ต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย ก็เพราะขาดการคิดในเชิง Profitability เราต้องไม่ลืมว่า โลกใบนี้คือโลกแห่งการพัฒนา (Evolution World) แต่หากธุรกิจหรือสินค้านั้นไม่มีทรัพยากรสนับสนุน ไม่มีกำไรจากการดำเนินงานมาหล่อเลี้ยง การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในที่สุด สินค้าและบริการนั้น ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย และถูกคู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไป

Profitability จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะกำไรจากการดำเนินงาน คือ ทรัพยากรที่จะนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ตลอดเวลา แต่การที่ Profitability ในเมืองไทย ถูกประเมินแต่ด้านลบ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ ไม่นำผลกำไรมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อย่างมากก็นำไปขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิต หรือนำไปใช้สร้างธุรกิจใหม่ มีส่วนน้อยมากที่จะนำเงินกำไรนี้มา “วิจัยและพัฒนา” เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรโลกได้มากยิ่งขึ้น

วัยรุ่นที่จิตใจร้อนแรง ยังมีประสบการณ์บนโลกไม่มากนัก จะต้องถูกฝึกฝนให้เข้าใจในจุดนี้ แน่นอนว่า การสร้างของดีมีคุณค่า (Value) ย่อมเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญ แต่หากสิ่งที่มีคุณค่านั้นไม่อาจตอบสนองความต้องการของสังคม (Utility) สิ่งนั้นยังไม่นับว่าดีถึงที่สุด แน่นอนว่า หลายครั้ง สังคมก็อาจตัดสินประเมินค่าสรรพสิ่งอย่างผิดพลาด จนทำให้ของดีมีคุณค่า (Value) ถูกละเลยทอดทิ้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่ผลิตภัณฑ์ซึ่งเราคิดว่ามีคุณค่า Value กลับได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาและบริบทสังคมว่า ยังไม่มีคุณค่าที่เพียงพอ ดังนั้น การตรวจสอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ย่อมต้องอาศัย Utility เป็นตัวทดสอบเบื้องต้น แน่นอนว่า หากเราเชื่อมั่นใน Value ของผลิตภัณฑ์ ย่อมสามารถยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ และในยุคคลื่นลูกที่ 3 ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ย่อมได้รับการประเมินค่าใหม่ (Revalue) อย่างรวดเร็วแน่นอน

ในโลกที่สลับซับซ้อนนั้น บางครั้งการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ(Utility) ได้สำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองด้านผลกำไรจากมนุษยชาติ (Profitability) นับเป็นกรณีที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ บางครั้งอาจเป็นได้ว่า สินค้าชนิดนี้แม้ว่าจะสร้างรายได้มหาศาล แต่กลับมีต้นทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจเกิดจากความสามารถในการสนับสนุนของลูกค้าเป้าหมายมีกำลังไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดย่อมนำมาซึ่งความสั่นคลอนของผลิตภัณฑ์ในระยะยาว รวมถึงการนำผลกำไรกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภายหลัง

Profitability จึงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี บางครั้ง การเน้นสร้างแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า Value มากเกินไป ได้กลับเป็นภัยต่อมนุษยชาติ เพราะผลิตภัณฑ์นั้นสิ้นเปลื้องทรัพยากรของโลกไปสร้างขึ้นมา แต่กลับไม่อาจตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ (Utility) ได้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป เช่นเดียวกัน การเน้นแต่ประโยชน์ใช้สอยมากเกินไป (Utility) ย่อมอาจสร้างความเสียหายต่อโลกได้ เพราะลืมนึกถึง “ต้นทุน” ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การคิดถึงแต่ Profitability มากเกินไป ก็อาจทำให้เราละเลยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งบางครั้งอาจยังไม่ได้รับความนิยมจากสังคมในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกำไร (Profit) และ ประโยชน์ใช้สอย (Utility) ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล

4. การทำงานด้วยความสุข (Happiness of Work)

ความร่ำรวยแบบอเมริกานั้น ไม่อาจได้มาโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน มหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์ ทำงานหนักกว่าเราเสียอีก วันหนึ่งอาจจะ 16-18 ชั่วโมง แต่ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้ต้องการความร่ำรวยในรูปแบบนี้ ผมจึงปรับภูมิปัญญาทั้งหมดให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย โดยพยายามผสานภูมิปัญญาไทยเข้าไปผสมด้วยอย่างลงตัว

คนไทยนั้น แม้ไม่ได้ทำงานหนักเคร่งเครียดแบบคนอเมริกัน แต่เราก็ยังอยู่รอดและสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่ร่ำรวยเลอเลิศ แต่ก็มีชิวิตสะดวกสบายและมีความสุข

ภูมิปัญญาสี่แบบของสี่ประเทศนี้ ผมจะนำมาสรุปสังเคราะห์ใน Wisdom House และเชื่อว่าภูมิปัญญาเช่นนี้ ยังไม่เคยมีสถาบันใดได้เคยสร้างสรรค์มาก่อน สำหรับ มหาวิทยาลัยในยุโรป ผมก็คิดว่าจะเน้นไปที่ข้อ 1 คือ การวิพากษ์สร้างสรรค์แบบกรีก-โรมัน ถ้าเป็นอเมริกาก็เป็นเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ส่วนเรื่องกลยุทธเลิศล้ำของชาวจีนก็เพิ่งผนวกเข้ามาเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แม้กระนั้น ผมยังประเมินว่าพวกเขายังทำได้ไม่ถึงแก่น เช่นเดียวกัน ความสะดวกสบายรื่นเริงแบบคนไทย ไม่เคร่งเครียดจริงจังกับชีวิตจนเสียสมดุล ตรงนี้ผมคิดว่าฝรั่งอาจจะขาดแคลนไป

ยิ่งกว่านั้น ผมก็คิดว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แม้แต่ในอเมริกา ยังคงไม่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการ ผมคิดว่ายังขาดส่วนเสี้ยวสำคัญบางประการไป อาจจะเพราะว่าอาจารย์ที่มาสอน ส่วนใหญ่เป็นแต่อาจารย์แท้ๆ ไม่ได้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ขณะเดียวกัน การประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคม เข้าใจประวัติศาสตร์และความเป็นมา ผมคิดว่าบทเรียนทางประวัติศาสตร์มีผลมากต่อการวิเคราะห์อนาคต แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญในส่วนนี้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือบริบทสังคม เพื่อตัวมันเอง ไม่ได้ศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้

Wisdom Houseรวบรวมภูมิปัญญาทั้งหมด ประสานจุดเด่นของภูมิปัญญาโลกเข้าด้วยกันแล้วสังเคราะห์มาให้ท่าน แต่สุดท้ายท่านจะต้องประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถมาป้อนให้ท่านทุกที่ทุกเวลา แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำจะสามารถป้อนให้ท่านได้ถึง 70% ส่วนอีก 30% ให้ท่านเสริมเข้าไปเอง สิ่งที่ผมใส่เข้าไปให้นั้น จะเสริมความแข็งแกร่งอุดช่องโหว่ให้ท่าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ลูกอาเสี่ย” ถ้ารอให้อาเสี่ยตาย ถึงแม้จะสร้างทีมงานไว้ให้เจ้าสัวน้อยเรียบร้อยแล้วแต่สุดท้ายก็ตามสูตรเลย เจ้าสัวน้อยจะเขี่ยคนเก่งๆนั้นทิ้งไป แล้วเอาคนไม่เก่งแต่ขี้ประจบเข้ามาแทน

ถ้าเราสอนให้เจ้าสัวน้อยคิดเองเป็น หากอาเสี่ยตายไปก่อนที่ยังไม่ได้สร้างทีมไว้ให้เลย เจ้าสัวน้อยยังสามารถหาคนเก่งเข้ามาเสริมได้เอง นี่ผมคิดยาวไกลมากเลย ไม่ได้มองแค่คนที่กำลังสร้างตัวเท่านั้น แต่เลยไปถึงคนที่พยายามรักษาสถานะความสำเร็จไว้ “ก้าวเป็นที่หนึ่งนั้นยาก แต่รักษาความเป็นที่หนึ่งกลับยากยิ่งกว่า”

ยิ่งกว่านั้นคือ ในสภาวะที่จิตใจและสังคมเข้าสู่ภาวะคลื่นลูกที่สี่นั้น คนเราจะมีภาวะสับสนในจิตใจ บางทีมีเงิน แต่กลับเต็มไปด้วยทุกข์ มีเงินแต่รู้สึกชีวิตอ้างว้างโดดเดี่ยว เราจะสอนวิธีคิดที่เข้าใจความหมายของชีวิตแบบล้ำลึก แต่ไม่เพ้อฝัน ไม่ใช่พูดแต่เรื่องดีๆ เราจะสอนแก่นแท้แห่งความเป็นจริง

นี่คือ Wisdom House ที่ผมพยายามพัฒนาขึ้นมา

Dr.Somkiat-1

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์...ลูกค้าคือพระเจ้า

ความสำเร็จของ City of Coral Springs

"คริสติน ซี.เฮฟลิน" (Christine C. Heflin) หนึ่งในทีมบริหารของ "City of Coral Springs" ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้ของรัฐฟลอริดามาเล่าให้ฟัง และน่าสนใจว่า ทำไมเขาถึงบริหารเมืองนี้ประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างเป็นชุมชนชั้นเลิศดึงดูดให้ผู้คนอยากจะเข้ามาอาศัย มาทำงาน และเลี้ยงดูครอบครัวที่นี่ได้อย่างผาสุก
ในช่วงแรกที่เข้าบริหารต้องบอกว่า งานนี้ยากและท้าทายมากๆ อย่างหนักหนาสาหัสไม่ต่างกับพายุเฮอริเคน ซึ่งทีมบริหารได้นำเกณฑ์ประเมินของ Baldrige มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์กร เนื่องจากทีมบริหารเชื่อว่า มีระบบที่บูรณาการมากที่สุด และมีตัวอย่างให้เห็นคือองค์กรธุรกิจชั้นนำอย่างโมโตโรล่า ที่ได้นำกลยุทธ์นี้ไปใช้
ที่สำคัญคือ ศาสตร์ของความสำเร็จต้องให้ “ผู้นำ”สูงสุดขององค์กรไฟเขียวเสียก่อน ซึ่งการบริหารงานที่ "City of Coral Springs" มีเทศมนตรี (City Manager) เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารสูงสุด และเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง และนำ “ผู้ช่วย” ที่มีฝีมือและเคยทำงานองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ทมาร่วมงาน ซึ่งต้องบอกว่า
“ความสำเร็จของ City of Coral Springs มาจากแนวคิดการประเมินแบบ Baldrige , ผู้นำที่มีมุ่งมั่น และเก่งด้านการบริหาร ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้แคร์ประชาชนเป็นอันดับแรก รวมถึงสรรหาผู้ช่วยที่มากด้วยประสบการณ์เข้ามาช่วยบริหาร”
ในช่วงแรกๆ ของการสร้างแนวร่วมจากคนทุกภาคส่วน เริ่มจากคนทุกระดับองค์กร และประชาชน ถือมีความยากลำบากไม่แพ้กัน เพราะความเปลี่ยนแปลง กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? และจะเป็นข่าวร้ายหรือว่าข่าวดี? ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และทำความเข้าใจ
ที่สำคัญคือ เคล็ดลับของความสำเร็จของเรื่องนี้คือ ผู้นำที่รับฟัง ฟังและฟัง เสียงของประชาชนเพื่อจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนมาใช้ปรับปรุงในจุดที่ขาดตกบกพร่อง เพราะ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องทำให้ประชาชนพึงพอใจให้ได้
คริสตินหนึ่งในทีมบริหารบอกว่า ผู้นำต้องมีความกล้าหาญ และเริ่มต้นทันที แม้จะต้องลำบากแต่ต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่าล้มเลิกเอาดื้อๆ หากเกิดความล้มเหลวบ้าง เพราะการแก้ปัญหาเหมือนกับกระดาษเปล่าที่ไม่มีคำตอบ ซึ่งเราต้องไปหาเอาเอง และรอดูความสำเร็จในปลายทางที่จะเกิดขึ้น
…อยากให้นายกเทศมนตรี หรือผู้ว่าในเมืองไทยอ่านดูบ้างครับ....

อย่ามัวแต่ทะเลาะกันเลยครับ คนอื่นเขาเป็นตาอยู่คว้าพุงไปกินแล้ว

ช่องว่างธุรกิจร้านอาหารไทย

จากการให้สัมภาษณ์พิเศษของ นายเกรแฮม เบรน ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท เทสตี้ ไทย ฯกับ “บิสิเนสไทย” พบว่า ธุรกิจของเทสตี้ ไทย เริ่มขึ้นจากการสำรวจความต้องการของร้านอาหารไทยซึ่งพบว่า ร้านอาหารไทยยังขยายตัวไม่เพียงพอกับแนวโน้มความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความต้องการและขยายตัวมาเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น

เกรแฮม บอกว่า อาหารไทยสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่คนทั่วโลกต้องการ เพราะอาหารไทยมีส่วนประกอบของผัก สมุนไพร และการประกอบการอาหารที่ต้องปรุงสดพร้อมเสิร์ฟรับประทานทันที เป็นอาหารที่เหมาะกับกระแสสุขภาพที่มาแรงในปัจจุบัน

ทำให้ทีมผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอาหารไทยที่จะเกิดขึ้น จึงสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีแบรนด์ติดตลาดโลก โดยการนำเสนออาหารไทยภายใต้คอนเซ็ปต์ไทยฟาสต์ฟูด หรือเคาน์เตอร์เซลฟ์เซอร์วิสขึ้นภายใต้แบรนด์ "เทสตี้ ไทย" (Tasty Thai)

เทสตี้ ไทย เป็นแฟรนไชส์อาหารไทยจานด่วนแบรนด์แรกของโลก เปิดร้านสาขาแรกในประเทศไทย บนถนน สุรวงศ์ และเตรียมเปิดร้านเพิ่มในเร็วๆนี้ ที่ออสเตรเลีย, สวีเดน และอังกฤษ

แฟรนไชส์เทสตี้ ไทยวางแผนที่จะเปิดร้านเพิ่มให้ได้ถึง 250 ร้านทั่วโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบัน เทสตี้ ไทย มีร้านอาหาร 2 แห่งในสวีเดน และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ส่วนอีก 2 ร้านในออสเตรเลียกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง สำหรับในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเลือกทำเลที่เหมาะสมที่สุด

"ราคาต่ำ"จุดขาย แฟรนไชส์ เทสตี้ ไทย


การลงทุนในเเฟรนไชส์เทสตี้ ไทยนั้น หากเป็นร้านอาหารที่เป็นแฟรนไชส์เดี่ยว (SRF) ราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 ยูโร หรือประมาณ 1,000,000 บาท และแฟรนไชส์ระดับภูมิภาค (MRF) ราคาอยู่ที่ 200,000 ยูโร หรือประมาณ 10,000,000 บาท

เทสตี้ ไทย มีเมนูอาหารกว่า 14 รายการ ยกตัวอย่างเช่นต้มยำ แกงเขียวหวาน ทอดมันปลา ปอเปี๊ยะผัก ต้มข่าไก่ ผัดผัก เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดและที่ตั้งของร้านนั้นๆ ซึ่งความโดดเด่นของอาหารที่มีเพื่อแข่งขันกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศคือ รสชาติของอาหารไทยแท้ๆ รวมถึงวัตถุดิบที่จะมีการส่งจากเมืองไทยไปทั่วโลก โดยไม่มีการใช้วัตถุดิบอื่นๆ แทนเหมือนในร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้านที่ไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้

“เทสตี้ไทย เน้นรสชาติของอาหารไทยแท้ โดยจะมีการจัดการในการส่งวัตถุดิบที่หาไม่ได้ในประเทศนั้นๆ ไปจากเมืองไทย จึงสามารถรักษารสชาติและรูปลักษณ์ของอาหารไทยแท้ๆ ได้”

นอกจากจุดเด่นในเรื่องของรสชาติและวัตถุดิบแล้ว ราคาที่ย่อมเยาว์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของเทสตี้ ไทย ซึ่งเดิมนั้นการทานอาหารไทยในต่างประเทศถือว่าเป็นอาหารที่หรูหรา และมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูง คือเป็นหลัก 1,000-5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง

แต่สำหรับเทสตี้ไทยแล้วราคาประมาณ 300-500 บาทต่อคนต่อครั้ง เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายเป็นอาหารที่ใช้เวลาทานไม่มาก ทำให้จำนวนของคนเข้าออกร้านจะมีมากกว่าร้านปกติและด้วยราคาที่ไม่แพงมาก จะสามารถสร้างพฤติกรรมการทานอาหารจากเดือนละ 1-2 ครั้งกลายเป็นอาทิตย์ละ1-2 ครั้งได้

“แต่ละเมนูได้รับการทดสอบแล้ว เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกค้า ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการที่ลูกค้าได้รับจากอาหารแต่ละรายการนั้น สามารถตรวจสอบได้จากใบเสร็จรับเงิน ดังนั้นลูกค้าสามารถไว้วางใจได้ว่าสามารถรับประทานอาหารไทย และดีสำหรับสุขภาพ” มร. เบรน กล่าวทิ้งท้าย

เสียดายแทนคนไทย
นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย หรือ Franchise & Thai SMEs Business Association (FSA) ให้ความเห็นว่า การขยายธุรกิจอาหารไทยแบบเเฟรนไชส์ในเมืองไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มีการขยายธุรกิจในรูปแบบนี้นัก ที่ผ่านมาก็จะมีร้านอาหารไทยที่เป็นระบบเเฟรนไชส์เริ่มขยายไปยังต่างประเทศบ้างบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโคคา ร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิล์ด ร้านบัวบาน เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการขยายไปต่างประเทศจะเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนประเทศนั้นๆ มากกว่า

การที่ชาวต่างชาติเข้ามาทำเเฟรนไชส์ร้านอาหารไทยถือว่ามีความได้เปรียบคนไทยหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติจะรู้ถึงความชื่นชอบรสชาติอาหารที่ต้องการอย่างแท้จริงของชาวต่างชาติด้วยกันเอง , เข้าใจระบบการกระจายสาขาของเเฟรนไชส์เป้นอย่างดี และเข้าใจในระบบการวางแผนการทำเเฟรนไชส์มากพอในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับคนไทยแล้วการขยายเเฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศยังติดขัดในเรื่องของเงินทุน ความรู้ในเรื่องระบบการจัดการที่ดี ขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากคนไทยยังยึดติดการทำธุรกิจแบบครอบครัวมากเกินไป นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่คนไทยยังมองไม่ออกว่าธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจบริการสามารถพัฒนาธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับคนไทยที่ยังไม่สามารถพัฒนาสินค้าและธุรกิจดีๆ ที่มีอยู่ออกไปยังต่างประเทศได้
อาหารไทยอนาคตใสแจ๋ว
ความต้องการของร้านอาหารไทยในต่างประเทศล้มหลาม ฝรั่งวอร์ทมากกว่าร้านอาหารเชื้อชาติอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดอเมริการ้านอาหารไทยอนาคตสดใสแน่นอน
สำหรับธุรกิจอาหารไทยในต่างประเทศถือว่าเป็นอาหารชาติหนึ่งที่มีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย และอีกเหตุผลหนึ่งคือด้วยกระแสสุขภาพได้ส่งให้อาหารไทยที่มีทั้งผักและสมุนไพรกลายเป็นสิน้าอินกระแสสุขภาพไปด้วย ดังนั้นต้องยอมรับว่าตลาดของร้านอาหารไทยมีขนาดใหญ่และน่าสนใจเป้นอย่างมาก

ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีขนาด 5.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดเป็นอาหารจานด่วน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้มีการขยายตัว 5% ต่อปี โดยส่วนแบ่งของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็น 47% ของเม็ดเงินในธุรกิจอาหารทั้งหมด (และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 53% ในปี 2553) ทั้งนี้ ยังพบว่า คนอเมริกันใช้เงิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันกับการบริการอาหารจานด่วน 51% ของการขนส่งของร้านอาหารเป็นการซื้อกลับบ้านหรือโทรสั่งอาหารให้ส่งนอกร้าน

นอกจากนี้ มากกว่า 27% ของผู้บริโภคยังให้ความเห็นว่าพวกเขายังอยากทานอาหารตามร้าน รวมทั้งใช้บริการโทรสั่งอาหารหรือซื้อกลับบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่จริง นี่แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการขนาดใหญ่ของตลาดที่รอการตอบสนองจากร้านอาหารอยู่

ตัวเลขจากสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทยในปี 2545 แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีร้านอาหารไทย 6,537 ร้าน โดย 3,228 ร้านตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาและแคนาดา 1,328 ร้าน ตั้งอยู่ในยุโรป 992 ร้านอยู่ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 944 ร้าน ในเอเชีย 21 ร้าน ในแอฟริกาใต้ และ 24 ร้านในภูมิภาคอื่นๆ ในจำนวนร้านข้างต้นในสหรัฐอเมริกา 95% เจ้าของเป็นคนไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียง 50% ของร้านในญี่ปุ่น 30% ในอังกฤษและ 25% ในเยอรมนี

อาหารเอเชียเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอาหารไทยมีการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มนี้ แต่แม้ว่าอาหารไทยจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากร้านอาหารไทยถึง 98% เป็นลักษณะร้านเดี่ยว ไม่มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดย 92% ของลูกค้าชอบรับประทานอาหารเอเชียจากร้านอาหารมากกว่าปรุงเองที่บ้าน โดยอาหารไทยได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับร้านอาหารจากประเทศอื่นในเอเชีย 50% ของลูกค้าลงความเห้นว่าอาหารไทยดึงดูดใจมาก

จากผลการสำรวจของอเมริกัน คัลลินารี่ เฟดเดอเรชั่น พบว่า 60% ของเชฟ ลงความเห็นว่าอาหารไทยได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2550
กลุ่มลูกค้าอายุน้อยมีความสนใจในอาหารไทย จากตัวเลขเหล่านี้สามารถชี้ชะตาอาหารไทยได้เลยว่ายังเติบโตได้อีกมากในตลาดโลก

อ่านแล้วเสียดายแทนคนไทยไหมครับ....

บริหารด้วย"สมองซีกขวา" กระแสใหม่ซีอีโอ

ศาสตร์ของการบริหารงานธุรกิจยุคใหม่ไม่ใช่ "อำนาจ" หากแต่ขึ้นอยู่กับ "อารมณ์" และ "ความรู้สึก" ที่ใช้สมองซีกขวาสั่งการสะท้อนออกมาในแง่มุมของความคิดเชิงสร้างสรรค์ อย่างมีอีโมชั่น กำลังกลายเป็นหลักคิดใหม่ของซีอีโอเมืองไทย
องค์กรส่วนใหญ่ทั่วโลก เริ่มมองเห็นถึงแนวโน้มของยุค Conceptual Age ซึ่งเป็นยุคที่มุ่งเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ศิลป กระทั่งความสนุกของชีวิต มาใช้ในการดำเนินกิจการและขยายธุรกิจ โดยเฉพาะศาตร์ในการบริหารในแนวใหม่ ที่ก่อตัวขึ้นมาในลักษณะ art businees ที่นำ"ศิลป"เข้ามาผสมผสาน เพื่อดึงศักยภาพสมองซีกขวามาใช้มากขึ้น

Steve Jobs ซีอีโอ ของ "แอปเปิ้ล" เป็นตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกที่ชัดเจนของหลักการบริหาร ที่ดึงมาจากสมองซีกขวา สะท้อนจุดเด่นทางด้านวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รังสรรค์ออกมา โดยแอปเปิ้ลไม่ได้ออกสินค้ามา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่เป็นสินค้าที่ออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า เช่น ไอพอต ,แมคอินทอช เป็นต้น

ซิคเว่ บริเก้ อดีตซีอีโอดีแทค เป็นตัวอย่างซีอีโอที่ใช้หลัก Art Business หรือการใช้ศิลปะทางอารมณ์เข้ามาบริหารงานธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น 1.ศิลปการบริหารงานแบบใหม่ๆ หรือการใช้สีในการสร้างแบรนด์ และการบริการ รวมถึง ตัวสินค้า โดยใช้ 2 สีหลักอย่าง สีฟ้าและสีแดง เช่น ใช้สีแดง สำหรับแฮปปี้ ซึ่งเป็นโทรศัพท์แบบเติมเงิน ใช้สีฟ้าสำหรับบริการรายเดือน โดยจะทาสีดังกล่าวทั้งตึกทั้งลิฟต์

ที่สำคัญเขายังมีภาพลักษณ์ของซีอีโอสมองซีกขวาในการคิดสร้างสรรค์ ด้านอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนกันให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

Created Value ผูกมิตรโชว์ห่วย

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "Leading Towerds the Virtual Century" ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การนำหลักคิดของสมองซีกขวาเข้ามาใช้ โดยสร้างสรรค์งานเชิงกลยุทธ์ อย่างมีศิลปะ เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าเป็นสำคัญ จะทำให้เกิดการกระตุ้นตัดสินใจให้ลูกค้าซื้อสินค้า เพราะหากใช้เพียงสมองซีกซ้าย หรือเหตุและผลเข้าให้ซื้อสินค้าคงไม่ได้ผลมากนัก

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แม็คโครได้รับผลกระทบจากไฮเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติ ทำให้ต้องปรับตัวหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการกลับไปสู่จุดยืนเดิม (Back to Basic) คือการเป็นเจ้าเดียวแห่งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง Cash&Carry

จะสังเกตเห็นว่าแม็คโคร ไม่มีถุงใส่ ขายส่งในระบบสมาชิก ไม่มีบริการจัดส่งสินค้า แต่กลับสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้ลูกค้าเข้ามาใช้จ่ายได้ แม้กระทั่งสินค้าอะไรก็ตามแต่อยู่บนชั้นวางก็ขายได้เมื่อมีแอ็ดโฆษณาแรงๆ เข้ามากระตุ้น

ทำให้แม็คโครจึงหันไปเน้น Created Value สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากการสร้างสรรค์ตั้งแต่การคัดเลือกนำโพรดักส์เข้ามาขาย บริหารต้นทุนที่ดีเพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าราคาประหยัด และแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องที่ครีเอท Emotional Buying มาเพื่อเคียงข้างโชว์ห่วยเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 500,000 ราย

" นี่คือจุดแตกต่างที่ไม่มีใครทำ แม็คโครจึงยึดแนวทางนี้ ด้วยการมุ่งไปที่การบริหารซัพพลายเชน และต้นทุนที่ต่ำ เพื่อจะได้ขายส่งในราคาถูกเคียงข้างโชว์ห่วยไทย เข้ากับสโลแกนใหม่ มิตรแท้โชว์ห่วย " ปัจจุบันแม็คโครให้ความสำคัญกับการทำซีอาร์เอ็ม สร้างสรรค์รูปแบบทำกิจกรรมกับลูกค้า อาทิ โครงการมิตรแท้โชวห่วยเป็นต้น"
วิชา - เมเจอร์ ใช้"ศิลปะ" ปั้นธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดทรรศนะเกี่ยวกับหลักการบริหารงานของอาณาจักรเอ็นเตอร์เทนเมนต์ว่า ศิลปะ กับเหตุผล ต้องนำมาผสมผสานกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การทำธุรกิจต้องวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายให้ออกว่าต้องการอะไร แล้วจะตอบสนองพวกเขาได้อย่างไร เมเจอร์มีการสำรวจตลาดทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม

สมองซีกซ้าย จะทำหน้าที่วิเคราะห์ อ้างอิงถึงเหตุและผลในเชิง Business Model ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่ สร้างสรรค์งานครีเอทีฟอย่างมีศิลปะ ออกแบบตกแต่งสถานที่ รูปแบบโรงภาพยนตร์ สีสัน จะเติมแต่งอะไรลงไป ตลอดจนกิจกรรมแคมเปญต่างๆ ก็ต้องใช้สมองซีกขวา

ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าเป็นลักษณะ Good Test มีศิลปะ ใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล การชมภาพยนตร์ หรือซื้อความบันเทิงจึงมาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผลแน่นอน ทำให้เมเจอร์จะพยายามศึกษาตลาด มองลูกค้าให้ออกว่าต้องการอะไร แบบไหน แล้วจะสร้างสรรค์อย่างมีกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ให้ได้

"ผมชอบเดินทางไปทุกที่ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ และจะมีกล้องดิจิตัลขนาดเล็กติดมือไปถ่ายภาพไม่ต่ำกว่า 500 ภาพ ผมจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอเก็บเข้าไปอยู่ในกล้อง จากนั้นจะพริ้นซ์ภาพออกมา แล้วจะวงไว้เป็น 10ๆ ใบ แจกให้กับฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายสถานที่ มัณฑนากร หรือแม้กระทั่งการตลาด " นายวิชา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า

ในภาพเหล่านั้นจะแฝงไปด้วยไอเดีย สามารถต่อยอดให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้การพัฒนาธุรกิจเกิดขึ้นโดยใช้สมองซีกขวา ที่มาจากการคิดแบบอารมณ์ความรู้สึก ใช้ศิลปะเข้ามาผสมผสาน ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ภาพของเมเจอร์ฯ คือ
Entertain Lifestyle Company เป็นบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์งานเอ็นเตอร์เทนเมนต์ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มให้มากที่สุด
คลื่นลูกที่ 4 พัฒนาสมองซีกขวา

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงกลยุทธ์หนึ่งไม่มีสองด้วยสมองซีกขวาว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการดำรงชีวิตของคนเราโดยพวกนักคิด นักวิชาการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยคลื่นลูกที่1มาจากการที่มนุษย์ลงหลักปักฐาน สู่คลื่นที่2 การเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม มาสู่คลื่นที่ 3 ยุคของข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคลื่นที่ 4 คือ ยุคของสังคมความคิด

การพัฒนาธุรกิจแต่ละยุค จึงไม่ได้ใช้หลักแค่สมองซีกซ้ายมาพัฒนาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการวางระบบ เหตุและผลตามตรรกะเท่านั้น หากแต่ใช้สมองซีกขวาสร้างสรรค์ ครีเอทอย่างมีศิลปะ นำมาผสมผสานการทำธุรกิจอย่างลงตัวจะทำให้เกิดประสิทธิผล ทั้งนี้ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจด้านโฆษณาและสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งการดีไซน์ ออกแบบเว็บ ออกแบบโลโก้ ป้ายชื่อ หัวจดหมายของบริษัท นามบัตรฯลฯ ล้านเป็นสิ่งที่ต้องใช้ศิลปะที่มาจากสมองซีกขวาทั้งสิ้น

ซีอีโอของแม็คโคร และเมเจอร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้หลักการและเหตุผลผสมผสานกับศิลปะ บริหารงานในองค์กร และบริหารงานธุรกิจอย่างลงตัว เพราะวัดผลจากความสำเร็จที่มองเห็น การปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ได้เปรียบ ซึ่งอย่าลืมว่า การเชื่อมโยงธุรกิจด้วยสมองซีกซ้ายและซีกขวาจะทำให้องค์รวมของธุรกิจขับเคลื่อนประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมว่า ในการบริหารโรงเรียน เราน่าจะหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้กันหน่อยนะครับ

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551

กลยุทธ์ ซีเอสอาร์ (Coporate Socail Reponsibility : CSR)

ซีเอสอาร์ กลยุทธ์ปิดทองหลังพระ


กลยุทธ์ ซีเอสอาร์ (Coporate Socail Reponsibility : CSR) หรือการตลาดรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ที่ทั่วโลกพูดถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายองค์กรออกมาขับเคลื่อนและทำกันมานานแล้วเพื่อไปหาเป้าหมายสูงสุด คือ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและแบรนด์สินค้า

ความสำเร็จของแนวทางดังกล่าวทำให้ซีเอสอาร์จึงกลายเป็นอมตะแห่งการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ทำซีเอสอาร์แท้ ขณะเดียวกันกลยุทธ์นี้จะไม่เป็นผลดีในระยะยาวกับผู้ที่ทำซีเอสอาร์เทียม

"แนวทางซีเอสอาร์เทียม คือ การเสาะแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว และเพื่อสร้างการรับรู้ทางสังคมผ่านการประชาสัมพันธ์ในการดึงกระบวนการซีเอสอาร์มาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งกำลังเข้าไปหาจุดเสี่ยงที่จะทำให้แบรนด์ประสบความล้มเหลว "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านซีเอสอาร์ ชี้

"บางจาก" ถือเป็นต้นแบบแห่งซีเอสอาร์สิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งทำมานานนับ 20 ปี เป็นกิจกรรมที่ทำกับสังคมจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคทั่วไปติดกับคำว่า green company ดูแลสิ่งแวดล้อมดีและทำอะไรก็เกี่ยวกับสังคม

กระทั่งมีหลายกลุ่มธุรกิจตามเทรนด์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า พานาโซนิค ปีนี้ก็มีการปรับโลโก้แบรนด์ใหม่ ใช้คอนเซ็ปต์ "Tree" เข้ามาสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม โตชิบา จัดแคมเปญ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว" ด้านมิตซูบิชิ ขี่กระแส สื่อสารน้ำยาแอร์ R4 10 A รักษาสิ่งแวดล้อม ทางด้านกลุ่มยานยนต์ โตโยต้า รุกหนักซีเอสอาร์เพื่อสิ่งแวดล้อมในชื่อ All for Envoroment เสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เคยกล่าวถึงเรื่องซีเอสอาร์ของบางจากว่า เราทำซีเอสอาร์มา 20 ปีแล้วมุ่งทำประโยชน์ให้คนอื่น ไม่เอาเปรียบประชาชน ซึ่งกิจกรรมที่ทำกับสังคมในรูปแบบต่าง ๆ คนทั่วไปมองว่าเป็น green company ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องแยกผลประโยชน์เรื่องกำไรที่จะตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น ซึ่งกำไรของผู้ถือหุ้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ คนที่เป็นผู้ถือหุ้นที่มาลงทุนกับเรา นอกจากเงินปันผลแล้วเขายังคงต้องการมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นภาระของเราต้องทำควบคู่กัน

ตัดตอนจาก
http://www.businessthai.com/

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551

KPOP ความสำเร็จของเกาหลี

"สินค้าวัฒนธรรมป๊อบเอเชีย กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคตามมหานครเอเชีย โดยยุคปัจจุบันสินค้าวัฒนธรรมป๊อบเกาหลี (KPOP)ที่เข้ามาแพร่หลายอย่างรวดเร็วในไทย เป็นผลมาจากการศึกษาและวิจัยด้านการตลาดภูมิภาคเอเชีย และวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละประเทศว่า สินค้าวัฒนธรรมประเภทใดเป็นที่นิยม สามารถเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้" รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการวิจัย "กระบวนการเอเชียภิวัฒน์ของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (เคป๊อป) : การผลิต การบริโภค และการสร้างอัตลักษณ์ของวัยรุ่นไทย

สินค้าป็อปเกาหลีตามที่ รศ.อุบลรัตน์ บอกมีหลากหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ละครโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน นิตยสาร เวบไซด์ และเกมออนไลน์ เป็นต้น

"เกาหลีได้พัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆไปยังหลายประต่างๆ ในเอเชีย ที่สำคัญ คือรัฐบาลเกาหลี เป็นผู้ลงทุน และวางนโยบายการส่งสินค้าวัฒนธรรมในตลาดเอเชีย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการและพัฒนาบุคลากรฝ่ายสร้างสรรค์ทั้งเนื้อหาสาระด้านเพลง ละคร ภาพยนตร์ และนโยนบายของภาครัฐ และความพร้อมของภาคเอกชน ทำให้สินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลีประสบความสำเร็จด้านการตลาดในประเทศต่างๆ" เธอ กล่าว และว่า สินค้าวัฒนธรรมจากเกาหลีส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นไทย ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับกระแสนิยมในภูมิภาคเอเชียเปรียบเทียบกับอัตลักษณ์ของตน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยวัยรุ่นไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อวัฒนธรรมเหล่านี้เพิ่ม

ตามผลการวิจัยของ รศ.อุบลรัตน์ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า วัฒนธรรมป๊อปเกาหลี ได้มีอิทธิพล ไม่มีอิทธิเฉพาะในประเทศไทย แต่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นทั่วเอเชีย และไม่เฉพาะต่อวัยรุ่นเท่านั้น ความคลั่งไคล้ต่อวัฒนธรรมเกาหลียังขยายไปยังกลุ่มแม่บ้านด้วย

"สมัยก่อนญี่ปุ่นส่งกองทัพมายึดเกาหลี ต้องเสียเลือดเนื้อจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน เกาหลีส่งวัฒนธรรมเกาหลีไปยึดญี่ปุ่น จนแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ติดละครเกาหลีจนงอมแงม ช่วงบ่ายๆแม่บ้านญี่ปุ่น ไม่เป็นอันทำอะไร รอดูละครเกาหลี" เอเยนต์ ทัวร์ รายหนึ่ง กล่าวถึงกระแสความคลั่งไคล้เคป๊อป

Game Face Magazine นิตยสารด้านเกมของเกาหลี ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา (2006) เกาหลีประสบความสำเร็จ ในการส่งออกเกมออนไลน์ไปยังจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในเอเชีย การพัฒนาดังกล่าวอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ประธานาธิบดีคิม แด จุง ติดตั้งระบบไฮสปีด อินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ก้าวย่างต่อไป เกาหลี มองไปที่ตลาดโลก ผ่านทางคณะกรรมการโลกาภิวัฒน์มาตรฐาน (global standard committees) มุ่งหน้าสู่ตลาดยุโรป อเมริกา รวมไปถึงอเมริกาใต้ มูลค่าการส่งออกเกมส์ของเกาหลี มูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านดอลลาร์ในปี 2003 มีจำนวนเกมส์ส่งออก ไม่ต่ำกว่า 28,000 เกมส์

ในประเทศไทย ตลาดเกมออนไลน์ มีมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเกมออนไลน์จากเกาหลี 70% มีผู้ประกอบการนำเข้าเกมเกาหลีมากกว่า 10 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีจำนวน 5 รายที่เป็นรายใหญ่ นำเข้าเกมส์เกาหลีตั้งแต่ 4-10 เกม และเป็นผู้ครองตลาดรายใหญ่ โดยเกมที่ฮิตที่สุด คือ เกมปังย่า มีวัยรุ่นไทยติดงอมแงมมากถึง 3 ล้านคน

ในส่วนภาพยนตร์ ละคร ดีวีดี ซีรี่ย์ มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 เรื่อง มีคอนเสิร์ตของนักร้องดังจากเกาหลี อาทิ เรน เข้ามาเปิดคอนเสิร์ต ปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง ปีที่แล้วเข้ามา 4 ครั้งปีนี้เข้ามา 5-6 ครั้ง แต่ที่กำลังมาแรง คือ นวนิยายเกาหลี มีการนำเข้ามาแปลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปีนี้ เฉพาะ นานมี บุคส์ นำเข้ามา 30-40 เรื่อง

"ปีนี้ เรานำเข้าภาพยนตร์เกาหลี 10 เรื่อง นำเข้ามาแล้ว 8 เรื่อง เหลืออีก 2 เรื่อง มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งแต่ละเรื่องได้รับความนิยมพอสมควร แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของหนัง ฟนังเกาหลีที่คนไทยนิยม ส่วนใหญ่ จะเป็นประเภทตลก ดราม่า และรักโรแมนติก" อรพรรณ มนต์พิชิต รองประธานกรรมการบริษัท โรส มีเดีย แอนด์เอนเตอร์เทนเมนต์ กล่าวถึงการนำเข้าภาพยนตร์ของบริษัท

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้นำเข้าหนังเกาหลีเข้ามาก ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด เพราะนำเข้ามาทั้งหนังดีและไม่ดี และบางรายซื้อมาในราคาแพง ทำให้เหลือผู้ประกอบการนำเข้าเพียง 3-4 รายเท่านั้นเอง ไม่นับสถานโทรทัศน์ที่นำซีรีย์เข้ามาเอง

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีมีมูลค่าประมาณปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกันคือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่เกาหลีมีแนวโน้มได้ดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น

การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี รัฐบาลเกาหลีมีระบบจัดการที่ชัดเจน โดยในส่วนของการส่งออกวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ดำเนินการผ่าน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยมีการจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ขึ้นในในทุกประเทศ และทุกเมืองใหญ่ๆ ไม่เฉพาะในเอเชีย แต่ตั้งขึ้นมาทั่วโลก อย่างอเมริกา ก็มีองค์การนี้ อยู่หลายแห่งในจีน ก็เช่นเดียวกัน ในประเทศไทย ก็มี ซึ่งที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีมารวมไว้ทั้งหมด ไม่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยว โดยแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ คือ การท่องเที่ยวตามรอยละคร ทำให้เฉพาะ6 เดือนแรก 2007 มีนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ไปเที่ยวเกาหลี 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.3% เฉพาะประเทศไทย ตัวเลขการเดินทางไปเที่ยวเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 14% จากอเมริกา 325,685 คน เพิ่มขึ้น 7% จากยุโรป 2 แสนกว่าคนเพิ่มขึ้น 1.9%

ในด้านเทคโนโลยี เกาหลีมีหน่วยงานที่เรียกว่า KGDI หรือ Korea Gams Development & Promotion Institute โดยหน่วยงานนี้ มีหน้าทีส่งเสริมการพัฒนาซอฟแวร์ของภาคเอกชน และส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ด้วยออกไปจัดกิจกรรมส่งเสริมเกือบทุกประเทศ

การส่งเสริมอย่างจริงจังโดยภาครัฐ ส่งผลให้การขับเคลื่อนของภาคเอกชนเกาหลี ในการส่งออกวันธรรมเกาหลี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เฉพาะวัยรุ่นในเอเชียเท่านั้น ที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลี แต่เคป๊อป กำลังก้าวไปยึดโลกด้วยซ้ำไป

อ้างอิงจาก
http://www.businessthai.co.th/content.php?

ไม่มีกลยุทธ์ใดไม่สำเร็จ

ไม่มีกลยุทธ์ใดไม่สำเร็จ
(มีแต่วิธีการที่ไม่ได้เรื่องเท่านั้นที่ทำให้ล้มเหลว)

มีหลายสาเหตุที่แต่ละธุรกิจและแต่ละองค์กรล้มเหลวในการใช้กลยุทธ์ เช่น การใช้กลยุทธ์ตามกระแส (หลังจากเลิกเห่อ CRM และ CEM ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ภาคบังคับในปัจจุบันแล้ว ก็มาเห่อกับ BLUE OCEAN กันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง เรียกว่า…ถ้าไม่รู้ ไม่คุย ไม่ใช้ BLUE OCEAN ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ตกยุคในปัจจุบัน!)
แต่ประเด็นหลักของวันนี้ก็คือ….."ทุกกลยุทธ์ต่างก็มีข้อดีในตัวของมัน แต่ไม่ทุกกลยุทธ์ที่จะใช้แล้วได้ผล" และสาเหตุหลักของความล้มเหลวที่ผมมักให้ความสำคัญมากถึงมากที่สุดก็คือ…"การใช้กลยุทธ์แต่ไม่รู้วิธี "ปรับใช้กลยุทธ์"!

เพราะทุกวันนี้ มีน้อยคนที่จะไม่รู้ว่ามีกลยุทธ์อะไรบ้างบนโลกนี้ที่กำลังเป็นกระแส และมีช่องทางมากมายในการเรียนรู้กลยุทธ์ตั้งแต่การอ่านหนังสือ การเข้าสัมมนา ไปจนถึงการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตที่เป็นขุมความรู้ให้ค้นคว้าได้ไม่มีที่สิ้นสุด….แต่ปราศจาก Coach ที่จะคอยแนะนำวิธีการใช้กลยุทธ์ให้ประสบความสำเร็จ!
เราจึงพบหลายๆธุรกิจใช้ CRM แต่ยิ่งใช้ ลูกค้าเก่ายิ่งหดหาย ลูกค้าใหม่ยิ่งหายาก และเราจะพบ หลายๆธุรกิจที่กำลังเริ่มใช้ BLUE OCEAN ที่ในอนาคตยิ่งใช้นอกจาก ตลาดใหม่ ลูกค้าใหม่ที่หวังลมๆแล้งๆว่าจะฉีกหนีคู่แข่ง กลับถูกคู่แข่งทิ้งห่าง พร้อมกับถูกลูกค้าทั้งเก่าและทั้งใหม่ทิ้งและเมินไปพร้อมๆกัน!
ทั้ง CRM ทั้ง BLUE OCEAN หรือทุกๆ กลยุทธ์ต่างก็เป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่เริ่มเลวร้ายลงทันทีเมื่อ…..
1.เริ่มใช้ กลยุทธ์ โดยไม่เข้าใจ "แก่น"ของกลยุทธ์ (ไปมัวศึกษาแต่เปลือกนอกตามกระแส ไม่เข้าใจแก่นแท้ แล้วก็รีบมาประกาศใช้ทันที…ใช้ทั้งที่ตัวเองก็ยัง "งงๆ" อยู่นั่นแหละ!)
2.ใช้กลยุทธ์ โดย ไม่ปรับกลยุทธ์ที่ใช้ให้เหมาะสมกับ….สถานการณ์ที่แตกต่างกัน ประเภทสินค้า-บริการที่ไม่เหมือนกัน ศักยภาพของคู่แข่งที่แตกต่างกัน ลักษณะเฉพาะของลูกค้าที่หลากหลาย ฯลฯ เมื่อไม่มีการ "ปรับแต่งกลยุทธ์" ก็เท่ากับเป็นการใช้ กลยุทธ์ที่ "ฝืนสภาพที่แท้จริง"!
3.ใช้กลยุทธ์ โดยทีมงานหลักและทีมงานอื่น ปราศจากความเข้าใจกลยุทธ์ ไปจนถึง ปราศจากความรู้และขั้นตอนในการใช้กลยุทธ์ เมื่อเริ่มใช้ไปก็จะพบสถานการณ์ที่หลายๆองค์กรเคยเป็นและยังเป็นกันอยู่ก็คือ ยิ่งใช้ยิ่งสับสน ยิ่งใช้ยิ่งอลเวง ยิ่งใช้ก็ยิ่งมั่ว แล้วก็ใช้แบบมั่วๆจนมึนทั้งผู้ใช้และลูกค้าผู้เคราะห์ร้าย!
4.ใช้กลยุทธ์แรกๆไปยังไม่ทันไร มีกลยุทธ์ใหม่เข้ามาท่านก็นำมาใช้อีก เรียกว่าใช้หลายกลยุทธ์แต่ยิ่งใช้ยิ่งเลวร้าย เพราะ "ใช้กลยุทธ์มากเกินความจำเป็น"!
5.ใช้กลยุทธ์โดยปราศจาก Coach หรือ ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง (เช่น มีที่ปรึกษา…แต่ที่ปรึกษาไม่รู้จริงถือเป็นความโชคร้ายของกลยุทธ์กับโชคร้ายขององค์กร) แต่ถ้าใช้กลยุทธ์โดยขาดผู้ที่เชี่ยวชาญหรือ Coach คอยชี้แนะ…ก็เท่ากับว่าท่านกำลัง นำเรือออกทะเลใหญ่…โดยไม่มีผู้นำทาง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะพบทั้งพายุ ทั้งหินโสโครก….ถือได้ว่าท่านโดดเดี่ยว เดียวดาย ไปจนถึงมีโอกาสตายเดี่ยวสูงมาก!

เพราะฉะนั้น บทสรุปของวันนี้คงต้องสรุปซ้ำว่า กลยุทธ์ส่วนมากที่ท่านเคยใช้แล้วล้มเหลว ไม่ใช่กลยุทธ์ไม่ดี มีแต่ "วิธีใช้ที่ไม่ได้เรื่อง" ที่มักจะเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า….
ว่าแต่ว่า ใน 5 ประเด็นหลักแห่งความล้มเหลวของการใช้กลยุทธ์….ท่านพลาดที่ประเด็นใดบ้าง? และทำอย่างไรจะไม่พลาดอีก เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นการบ้านในการใช้กลยุทธ์ครั้งต่อไปนะครับ!
อ้างอิงจาก
http://www.businessthai.co.th/content.php?data=412928_Smart%20SMEs