WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551

KPOP ความสำเร็จของเกาหลี

"สินค้าวัฒนธรรมป๊อบเอเชีย กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคตามมหานครเอเชีย โดยยุคปัจจุบันสินค้าวัฒนธรรมป๊อบเกาหลี (KPOP)ที่เข้ามาแพร่หลายอย่างรวดเร็วในไทย เป็นผลมาจากการศึกษาและวิจัยด้านการตลาดภูมิภาคเอเชีย และวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละประเทศว่า สินค้าวัฒนธรรมประเภทใดเป็นที่นิยม สามารถเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้" รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการวิจัย "กระบวนการเอเชียภิวัฒน์ของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (เคป๊อป) : การผลิต การบริโภค และการสร้างอัตลักษณ์ของวัยรุ่นไทย

สินค้าป็อปเกาหลีตามที่ รศ.อุบลรัตน์ บอกมีหลากหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ละครโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน นิตยสาร เวบไซด์ และเกมออนไลน์ เป็นต้น

"เกาหลีได้พัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆไปยังหลายประต่างๆ ในเอเชีย ที่สำคัญ คือรัฐบาลเกาหลี เป็นผู้ลงทุน และวางนโยบายการส่งสินค้าวัฒนธรรมในตลาดเอเชีย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการและพัฒนาบุคลากรฝ่ายสร้างสรรค์ทั้งเนื้อหาสาระด้านเพลง ละคร ภาพยนตร์ และนโยนบายของภาครัฐ และความพร้อมของภาคเอกชน ทำให้สินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลีประสบความสำเร็จด้านการตลาดในประเทศต่างๆ" เธอ กล่าว และว่า สินค้าวัฒนธรรมจากเกาหลีส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นไทย ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับกระแสนิยมในภูมิภาคเอเชียเปรียบเทียบกับอัตลักษณ์ของตน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยวัยรุ่นไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อวัฒนธรรมเหล่านี้เพิ่ม

ตามผลการวิจัยของ รศ.อุบลรัตน์ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า วัฒนธรรมป๊อปเกาหลี ได้มีอิทธิพล ไม่มีอิทธิเฉพาะในประเทศไทย แต่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นทั่วเอเชีย และไม่เฉพาะต่อวัยรุ่นเท่านั้น ความคลั่งไคล้ต่อวัฒนธรรมเกาหลียังขยายไปยังกลุ่มแม่บ้านด้วย

"สมัยก่อนญี่ปุ่นส่งกองทัพมายึดเกาหลี ต้องเสียเลือดเนื้อจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน เกาหลีส่งวัฒนธรรมเกาหลีไปยึดญี่ปุ่น จนแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ติดละครเกาหลีจนงอมแงม ช่วงบ่ายๆแม่บ้านญี่ปุ่น ไม่เป็นอันทำอะไร รอดูละครเกาหลี" เอเยนต์ ทัวร์ รายหนึ่ง กล่าวถึงกระแสความคลั่งไคล้เคป๊อป

Game Face Magazine นิตยสารด้านเกมของเกาหลี ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา (2006) เกาหลีประสบความสำเร็จ ในการส่งออกเกมออนไลน์ไปยังจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในเอเชีย การพัฒนาดังกล่าวอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ประธานาธิบดีคิม แด จุง ติดตั้งระบบไฮสปีด อินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ก้าวย่างต่อไป เกาหลี มองไปที่ตลาดโลก ผ่านทางคณะกรรมการโลกาภิวัฒน์มาตรฐาน (global standard committees) มุ่งหน้าสู่ตลาดยุโรป อเมริกา รวมไปถึงอเมริกาใต้ มูลค่าการส่งออกเกมส์ของเกาหลี มูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านดอลลาร์ในปี 2003 มีจำนวนเกมส์ส่งออก ไม่ต่ำกว่า 28,000 เกมส์

ในประเทศไทย ตลาดเกมออนไลน์ มีมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเกมออนไลน์จากเกาหลี 70% มีผู้ประกอบการนำเข้าเกมเกาหลีมากกว่า 10 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีจำนวน 5 รายที่เป็นรายใหญ่ นำเข้าเกมส์เกาหลีตั้งแต่ 4-10 เกม และเป็นผู้ครองตลาดรายใหญ่ โดยเกมที่ฮิตที่สุด คือ เกมปังย่า มีวัยรุ่นไทยติดงอมแงมมากถึง 3 ล้านคน

ในส่วนภาพยนตร์ ละคร ดีวีดี ซีรี่ย์ มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 เรื่อง มีคอนเสิร์ตของนักร้องดังจากเกาหลี อาทิ เรน เข้ามาเปิดคอนเสิร์ต ปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง ปีที่แล้วเข้ามา 4 ครั้งปีนี้เข้ามา 5-6 ครั้ง แต่ที่กำลังมาแรง คือ นวนิยายเกาหลี มีการนำเข้ามาแปลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปีนี้ เฉพาะ นานมี บุคส์ นำเข้ามา 30-40 เรื่อง

"ปีนี้ เรานำเข้าภาพยนตร์เกาหลี 10 เรื่อง นำเข้ามาแล้ว 8 เรื่อง เหลืออีก 2 เรื่อง มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งแต่ละเรื่องได้รับความนิยมพอสมควร แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของหนัง ฟนังเกาหลีที่คนไทยนิยม ส่วนใหญ่ จะเป็นประเภทตลก ดราม่า และรักโรแมนติก" อรพรรณ มนต์พิชิต รองประธานกรรมการบริษัท โรส มีเดีย แอนด์เอนเตอร์เทนเมนต์ กล่าวถึงการนำเข้าภาพยนตร์ของบริษัท

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้นำเข้าหนังเกาหลีเข้ามาก ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด เพราะนำเข้ามาทั้งหนังดีและไม่ดี และบางรายซื้อมาในราคาแพง ทำให้เหลือผู้ประกอบการนำเข้าเพียง 3-4 รายเท่านั้นเอง ไม่นับสถานโทรทัศน์ที่นำซีรีย์เข้ามาเอง

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีมีมูลค่าประมาณปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกันคือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่เกาหลีมีแนวโน้มได้ดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น

การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี รัฐบาลเกาหลีมีระบบจัดการที่ชัดเจน โดยในส่วนของการส่งออกวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ดำเนินการผ่าน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยมีการจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ขึ้นในในทุกประเทศ และทุกเมืองใหญ่ๆ ไม่เฉพาะในเอเชีย แต่ตั้งขึ้นมาทั่วโลก อย่างอเมริกา ก็มีองค์การนี้ อยู่หลายแห่งในจีน ก็เช่นเดียวกัน ในประเทศไทย ก็มี ซึ่งที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีมารวมไว้ทั้งหมด ไม่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยว โดยแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ คือ การท่องเที่ยวตามรอยละคร ทำให้เฉพาะ6 เดือนแรก 2007 มีนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ไปเที่ยวเกาหลี 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.3% เฉพาะประเทศไทย ตัวเลขการเดินทางไปเที่ยวเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 14% จากอเมริกา 325,685 คน เพิ่มขึ้น 7% จากยุโรป 2 แสนกว่าคนเพิ่มขึ้น 1.9%

ในด้านเทคโนโลยี เกาหลีมีหน่วยงานที่เรียกว่า KGDI หรือ Korea Gams Development & Promotion Institute โดยหน่วยงานนี้ มีหน้าทีส่งเสริมการพัฒนาซอฟแวร์ของภาคเอกชน และส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ด้วยออกไปจัดกิจกรรมส่งเสริมเกือบทุกประเทศ

การส่งเสริมอย่างจริงจังโดยภาครัฐ ส่งผลให้การขับเคลื่อนของภาคเอกชนเกาหลี ในการส่งออกวันธรรมเกาหลี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เฉพาะวัยรุ่นในเอเชียเท่านั้น ที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลี แต่เคป๊อป กำลังก้าวไปยึดโลกด้วยซ้ำไป

อ้างอิงจาก
http://www.businessthai.co.th/content.php?

ไม่มีกลยุทธ์ใดไม่สำเร็จ

ไม่มีกลยุทธ์ใดไม่สำเร็จ
(มีแต่วิธีการที่ไม่ได้เรื่องเท่านั้นที่ทำให้ล้มเหลว)

มีหลายสาเหตุที่แต่ละธุรกิจและแต่ละองค์กรล้มเหลวในการใช้กลยุทธ์ เช่น การใช้กลยุทธ์ตามกระแส (หลังจากเลิกเห่อ CRM และ CEM ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ภาคบังคับในปัจจุบันแล้ว ก็มาเห่อกับ BLUE OCEAN กันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง เรียกว่า…ถ้าไม่รู้ ไม่คุย ไม่ใช้ BLUE OCEAN ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ตกยุคในปัจจุบัน!)
แต่ประเด็นหลักของวันนี้ก็คือ….."ทุกกลยุทธ์ต่างก็มีข้อดีในตัวของมัน แต่ไม่ทุกกลยุทธ์ที่จะใช้แล้วได้ผล" และสาเหตุหลักของความล้มเหลวที่ผมมักให้ความสำคัญมากถึงมากที่สุดก็คือ…"การใช้กลยุทธ์แต่ไม่รู้วิธี "ปรับใช้กลยุทธ์"!

เพราะทุกวันนี้ มีน้อยคนที่จะไม่รู้ว่ามีกลยุทธ์อะไรบ้างบนโลกนี้ที่กำลังเป็นกระแส และมีช่องทางมากมายในการเรียนรู้กลยุทธ์ตั้งแต่การอ่านหนังสือ การเข้าสัมมนา ไปจนถึงการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตที่เป็นขุมความรู้ให้ค้นคว้าได้ไม่มีที่สิ้นสุด….แต่ปราศจาก Coach ที่จะคอยแนะนำวิธีการใช้กลยุทธ์ให้ประสบความสำเร็จ!
เราจึงพบหลายๆธุรกิจใช้ CRM แต่ยิ่งใช้ ลูกค้าเก่ายิ่งหดหาย ลูกค้าใหม่ยิ่งหายาก และเราจะพบ หลายๆธุรกิจที่กำลังเริ่มใช้ BLUE OCEAN ที่ในอนาคตยิ่งใช้นอกจาก ตลาดใหม่ ลูกค้าใหม่ที่หวังลมๆแล้งๆว่าจะฉีกหนีคู่แข่ง กลับถูกคู่แข่งทิ้งห่าง พร้อมกับถูกลูกค้าทั้งเก่าและทั้งใหม่ทิ้งและเมินไปพร้อมๆกัน!
ทั้ง CRM ทั้ง BLUE OCEAN หรือทุกๆ กลยุทธ์ต่างก็เป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่เริ่มเลวร้ายลงทันทีเมื่อ…..
1.เริ่มใช้ กลยุทธ์ โดยไม่เข้าใจ "แก่น"ของกลยุทธ์ (ไปมัวศึกษาแต่เปลือกนอกตามกระแส ไม่เข้าใจแก่นแท้ แล้วก็รีบมาประกาศใช้ทันที…ใช้ทั้งที่ตัวเองก็ยัง "งงๆ" อยู่นั่นแหละ!)
2.ใช้กลยุทธ์ โดย ไม่ปรับกลยุทธ์ที่ใช้ให้เหมาะสมกับ….สถานการณ์ที่แตกต่างกัน ประเภทสินค้า-บริการที่ไม่เหมือนกัน ศักยภาพของคู่แข่งที่แตกต่างกัน ลักษณะเฉพาะของลูกค้าที่หลากหลาย ฯลฯ เมื่อไม่มีการ "ปรับแต่งกลยุทธ์" ก็เท่ากับเป็นการใช้ กลยุทธ์ที่ "ฝืนสภาพที่แท้จริง"!
3.ใช้กลยุทธ์ โดยทีมงานหลักและทีมงานอื่น ปราศจากความเข้าใจกลยุทธ์ ไปจนถึง ปราศจากความรู้และขั้นตอนในการใช้กลยุทธ์ เมื่อเริ่มใช้ไปก็จะพบสถานการณ์ที่หลายๆองค์กรเคยเป็นและยังเป็นกันอยู่ก็คือ ยิ่งใช้ยิ่งสับสน ยิ่งใช้ยิ่งอลเวง ยิ่งใช้ก็ยิ่งมั่ว แล้วก็ใช้แบบมั่วๆจนมึนทั้งผู้ใช้และลูกค้าผู้เคราะห์ร้าย!
4.ใช้กลยุทธ์แรกๆไปยังไม่ทันไร มีกลยุทธ์ใหม่เข้ามาท่านก็นำมาใช้อีก เรียกว่าใช้หลายกลยุทธ์แต่ยิ่งใช้ยิ่งเลวร้าย เพราะ "ใช้กลยุทธ์มากเกินความจำเป็น"!
5.ใช้กลยุทธ์โดยปราศจาก Coach หรือ ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง (เช่น มีที่ปรึกษา…แต่ที่ปรึกษาไม่รู้จริงถือเป็นความโชคร้ายของกลยุทธ์กับโชคร้ายขององค์กร) แต่ถ้าใช้กลยุทธ์โดยขาดผู้ที่เชี่ยวชาญหรือ Coach คอยชี้แนะ…ก็เท่ากับว่าท่านกำลัง นำเรือออกทะเลใหญ่…โดยไม่มีผู้นำทาง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะพบทั้งพายุ ทั้งหินโสโครก….ถือได้ว่าท่านโดดเดี่ยว เดียวดาย ไปจนถึงมีโอกาสตายเดี่ยวสูงมาก!

เพราะฉะนั้น บทสรุปของวันนี้คงต้องสรุปซ้ำว่า กลยุทธ์ส่วนมากที่ท่านเคยใช้แล้วล้มเหลว ไม่ใช่กลยุทธ์ไม่ดี มีแต่ "วิธีใช้ที่ไม่ได้เรื่อง" ที่มักจะเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า….
ว่าแต่ว่า ใน 5 ประเด็นหลักแห่งความล้มเหลวของการใช้กลยุทธ์….ท่านพลาดที่ประเด็นใดบ้าง? และทำอย่างไรจะไม่พลาดอีก เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นการบ้านในการใช้กลยุทธ์ครั้งต่อไปนะครับ!
อ้างอิงจาก
http://www.businessthai.co.th/content.php?data=412928_Smart%20SMEs