WELCOME

ขอต้อนรับทุกท่านครับ
วันนี้ผมอยากจะบันทึกสิ่งต่าง ๆที่ได้รับรู้รับทราบเอาไว้ เผื่อจะได้ทบทวนความจำ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหาร
แต่อย่าคาดหวังอะไรจากบลอกของผมนะครับ เพราะไม่ได้มุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งอ้างอิงในทางวิชาการ เผลอๆ ไม่รู้ว่าที่พูดไปเขียนไปจะผิดถูกแค่ไหนก็ไม่อาจรับประกันได้
เอาเป็นว่าแค่เอาไว้แลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์...ลูกค้าคือพระเจ้า

ความสำเร็จของ City of Coral Springs

"คริสติน ซี.เฮฟลิน" (Christine C. Heflin) หนึ่งในทีมบริหารของ "City of Coral Springs" ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้ของรัฐฟลอริดามาเล่าให้ฟัง และน่าสนใจว่า ทำไมเขาถึงบริหารเมืองนี้ประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างเป็นชุมชนชั้นเลิศดึงดูดให้ผู้คนอยากจะเข้ามาอาศัย มาทำงาน และเลี้ยงดูครอบครัวที่นี่ได้อย่างผาสุก
ในช่วงแรกที่เข้าบริหารต้องบอกว่า งานนี้ยากและท้าทายมากๆ อย่างหนักหนาสาหัสไม่ต่างกับพายุเฮอริเคน ซึ่งทีมบริหารได้นำเกณฑ์ประเมินของ Baldrige มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์กร เนื่องจากทีมบริหารเชื่อว่า มีระบบที่บูรณาการมากที่สุด และมีตัวอย่างให้เห็นคือองค์กรธุรกิจชั้นนำอย่างโมโตโรล่า ที่ได้นำกลยุทธ์นี้ไปใช้
ที่สำคัญคือ ศาสตร์ของความสำเร็จต้องให้ “ผู้นำ”สูงสุดขององค์กรไฟเขียวเสียก่อน ซึ่งการบริหารงานที่ "City of Coral Springs" มีเทศมนตรี (City Manager) เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารสูงสุด และเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง และนำ “ผู้ช่วย” ที่มีฝีมือและเคยทำงานองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ทมาร่วมงาน ซึ่งต้องบอกว่า
“ความสำเร็จของ City of Coral Springs มาจากแนวคิดการประเมินแบบ Baldrige , ผู้นำที่มีมุ่งมั่น และเก่งด้านการบริหาร ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้แคร์ประชาชนเป็นอันดับแรก รวมถึงสรรหาผู้ช่วยที่มากด้วยประสบการณ์เข้ามาช่วยบริหาร”
ในช่วงแรกๆ ของการสร้างแนวร่วมจากคนทุกภาคส่วน เริ่มจากคนทุกระดับองค์กร และประชาชน ถือมีความยากลำบากไม่แพ้กัน เพราะความเปลี่ยนแปลง กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? และจะเป็นข่าวร้ายหรือว่าข่าวดี? ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และทำความเข้าใจ
ที่สำคัญคือ เคล็ดลับของความสำเร็จของเรื่องนี้คือ ผู้นำที่รับฟัง ฟังและฟัง เสียงของประชาชนเพื่อจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนมาใช้ปรับปรุงในจุดที่ขาดตกบกพร่อง เพราะ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องทำให้ประชาชนพึงพอใจให้ได้
คริสตินหนึ่งในทีมบริหารบอกว่า ผู้นำต้องมีความกล้าหาญ และเริ่มต้นทันที แม้จะต้องลำบากแต่ต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่าล้มเลิกเอาดื้อๆ หากเกิดความล้มเหลวบ้าง เพราะการแก้ปัญหาเหมือนกับกระดาษเปล่าที่ไม่มีคำตอบ ซึ่งเราต้องไปหาเอาเอง และรอดูความสำเร็จในปลายทางที่จะเกิดขึ้น
…อยากให้นายกเทศมนตรี หรือผู้ว่าในเมืองไทยอ่านดูบ้างครับ....

อย่ามัวแต่ทะเลาะกันเลยครับ คนอื่นเขาเป็นตาอยู่คว้าพุงไปกินแล้ว

ช่องว่างธุรกิจร้านอาหารไทย

จากการให้สัมภาษณ์พิเศษของ นายเกรแฮม เบรน ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท เทสตี้ ไทย ฯกับ “บิสิเนสไทย” พบว่า ธุรกิจของเทสตี้ ไทย เริ่มขึ้นจากการสำรวจความต้องการของร้านอาหารไทยซึ่งพบว่า ร้านอาหารไทยยังขยายตัวไม่เพียงพอกับแนวโน้มความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความต้องการและขยายตัวมาเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น

เกรแฮม บอกว่า อาหารไทยสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่คนทั่วโลกต้องการ เพราะอาหารไทยมีส่วนประกอบของผัก สมุนไพร และการประกอบการอาหารที่ต้องปรุงสดพร้อมเสิร์ฟรับประทานทันที เป็นอาหารที่เหมาะกับกระแสสุขภาพที่มาแรงในปัจจุบัน

ทำให้ทีมผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอาหารไทยที่จะเกิดขึ้น จึงสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีแบรนด์ติดตลาดโลก โดยการนำเสนออาหารไทยภายใต้คอนเซ็ปต์ไทยฟาสต์ฟูด หรือเคาน์เตอร์เซลฟ์เซอร์วิสขึ้นภายใต้แบรนด์ "เทสตี้ ไทย" (Tasty Thai)

เทสตี้ ไทย เป็นแฟรนไชส์อาหารไทยจานด่วนแบรนด์แรกของโลก เปิดร้านสาขาแรกในประเทศไทย บนถนน สุรวงศ์ และเตรียมเปิดร้านเพิ่มในเร็วๆนี้ ที่ออสเตรเลีย, สวีเดน และอังกฤษ

แฟรนไชส์เทสตี้ ไทยวางแผนที่จะเปิดร้านเพิ่มให้ได้ถึง 250 ร้านทั่วโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบัน เทสตี้ ไทย มีร้านอาหาร 2 แห่งในสวีเดน และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ส่วนอีก 2 ร้านในออสเตรเลียกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง สำหรับในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเลือกทำเลที่เหมาะสมที่สุด

"ราคาต่ำ"จุดขาย แฟรนไชส์ เทสตี้ ไทย


การลงทุนในเเฟรนไชส์เทสตี้ ไทยนั้น หากเป็นร้านอาหารที่เป็นแฟรนไชส์เดี่ยว (SRF) ราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 ยูโร หรือประมาณ 1,000,000 บาท และแฟรนไชส์ระดับภูมิภาค (MRF) ราคาอยู่ที่ 200,000 ยูโร หรือประมาณ 10,000,000 บาท

เทสตี้ ไทย มีเมนูอาหารกว่า 14 รายการ ยกตัวอย่างเช่นต้มยำ แกงเขียวหวาน ทอดมันปลา ปอเปี๊ยะผัก ต้มข่าไก่ ผัดผัก เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดและที่ตั้งของร้านนั้นๆ ซึ่งความโดดเด่นของอาหารที่มีเพื่อแข่งขันกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศคือ รสชาติของอาหารไทยแท้ๆ รวมถึงวัตถุดิบที่จะมีการส่งจากเมืองไทยไปทั่วโลก โดยไม่มีการใช้วัตถุดิบอื่นๆ แทนเหมือนในร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้านที่ไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้

“เทสตี้ไทย เน้นรสชาติของอาหารไทยแท้ โดยจะมีการจัดการในการส่งวัตถุดิบที่หาไม่ได้ในประเทศนั้นๆ ไปจากเมืองไทย จึงสามารถรักษารสชาติและรูปลักษณ์ของอาหารไทยแท้ๆ ได้”

นอกจากจุดเด่นในเรื่องของรสชาติและวัตถุดิบแล้ว ราคาที่ย่อมเยาว์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของเทสตี้ ไทย ซึ่งเดิมนั้นการทานอาหารไทยในต่างประเทศถือว่าเป็นอาหารที่หรูหรา และมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูง คือเป็นหลัก 1,000-5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง

แต่สำหรับเทสตี้ไทยแล้วราคาประมาณ 300-500 บาทต่อคนต่อครั้ง เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายเป็นอาหารที่ใช้เวลาทานไม่มาก ทำให้จำนวนของคนเข้าออกร้านจะมีมากกว่าร้านปกติและด้วยราคาที่ไม่แพงมาก จะสามารถสร้างพฤติกรรมการทานอาหารจากเดือนละ 1-2 ครั้งกลายเป็นอาทิตย์ละ1-2 ครั้งได้

“แต่ละเมนูได้รับการทดสอบแล้ว เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกค้า ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการที่ลูกค้าได้รับจากอาหารแต่ละรายการนั้น สามารถตรวจสอบได้จากใบเสร็จรับเงิน ดังนั้นลูกค้าสามารถไว้วางใจได้ว่าสามารถรับประทานอาหารไทย และดีสำหรับสุขภาพ” มร. เบรน กล่าวทิ้งท้าย

เสียดายแทนคนไทย
นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย หรือ Franchise & Thai SMEs Business Association (FSA) ให้ความเห็นว่า การขยายธุรกิจอาหารไทยแบบเเฟรนไชส์ในเมืองไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มีการขยายธุรกิจในรูปแบบนี้นัก ที่ผ่านมาก็จะมีร้านอาหารไทยที่เป็นระบบเเฟรนไชส์เริ่มขยายไปยังต่างประเทศบ้างบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโคคา ร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิล์ด ร้านบัวบาน เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการขยายไปต่างประเทศจะเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนประเทศนั้นๆ มากกว่า

การที่ชาวต่างชาติเข้ามาทำเเฟรนไชส์ร้านอาหารไทยถือว่ามีความได้เปรียบคนไทยหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติจะรู้ถึงความชื่นชอบรสชาติอาหารที่ต้องการอย่างแท้จริงของชาวต่างชาติด้วยกันเอง , เข้าใจระบบการกระจายสาขาของเเฟรนไชส์เป้นอย่างดี และเข้าใจในระบบการวางแผนการทำเเฟรนไชส์มากพอในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับคนไทยแล้วการขยายเเฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศยังติดขัดในเรื่องของเงินทุน ความรู้ในเรื่องระบบการจัดการที่ดี ขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากคนไทยยังยึดติดการทำธุรกิจแบบครอบครัวมากเกินไป นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่คนไทยยังมองไม่ออกว่าธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจบริการสามารถพัฒนาธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับคนไทยที่ยังไม่สามารถพัฒนาสินค้าและธุรกิจดีๆ ที่มีอยู่ออกไปยังต่างประเทศได้
อาหารไทยอนาคตใสแจ๋ว
ความต้องการของร้านอาหารไทยในต่างประเทศล้มหลาม ฝรั่งวอร์ทมากกว่าร้านอาหารเชื้อชาติอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดอเมริการ้านอาหารไทยอนาคตสดใสแน่นอน
สำหรับธุรกิจอาหารไทยในต่างประเทศถือว่าเป็นอาหารชาติหนึ่งที่มีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย และอีกเหตุผลหนึ่งคือด้วยกระแสสุขภาพได้ส่งให้อาหารไทยที่มีทั้งผักและสมุนไพรกลายเป็นสิน้าอินกระแสสุขภาพไปด้วย ดังนั้นต้องยอมรับว่าตลาดของร้านอาหารไทยมีขนาดใหญ่และน่าสนใจเป้นอย่างมาก

ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีขนาด 5.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดเป็นอาหารจานด่วน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้มีการขยายตัว 5% ต่อปี โดยส่วนแบ่งของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็น 47% ของเม็ดเงินในธุรกิจอาหารทั้งหมด (และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 53% ในปี 2553) ทั้งนี้ ยังพบว่า คนอเมริกันใช้เงิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันกับการบริการอาหารจานด่วน 51% ของการขนส่งของร้านอาหารเป็นการซื้อกลับบ้านหรือโทรสั่งอาหารให้ส่งนอกร้าน

นอกจากนี้ มากกว่า 27% ของผู้บริโภคยังให้ความเห็นว่าพวกเขายังอยากทานอาหารตามร้าน รวมทั้งใช้บริการโทรสั่งอาหารหรือซื้อกลับบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่จริง นี่แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการขนาดใหญ่ของตลาดที่รอการตอบสนองจากร้านอาหารอยู่

ตัวเลขจากสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทยในปี 2545 แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีร้านอาหารไทย 6,537 ร้าน โดย 3,228 ร้านตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาและแคนาดา 1,328 ร้าน ตั้งอยู่ในยุโรป 992 ร้านอยู่ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 944 ร้าน ในเอเชีย 21 ร้าน ในแอฟริกาใต้ และ 24 ร้านในภูมิภาคอื่นๆ ในจำนวนร้านข้างต้นในสหรัฐอเมริกา 95% เจ้าของเป็นคนไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียง 50% ของร้านในญี่ปุ่น 30% ในอังกฤษและ 25% ในเยอรมนี

อาหารเอเชียเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอาหารไทยมีการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มนี้ แต่แม้ว่าอาหารไทยจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากร้านอาหารไทยถึง 98% เป็นลักษณะร้านเดี่ยว ไม่มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดย 92% ของลูกค้าชอบรับประทานอาหารเอเชียจากร้านอาหารมากกว่าปรุงเองที่บ้าน โดยอาหารไทยได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับร้านอาหารจากประเทศอื่นในเอเชีย 50% ของลูกค้าลงความเห้นว่าอาหารไทยดึงดูดใจมาก

จากผลการสำรวจของอเมริกัน คัลลินารี่ เฟดเดอเรชั่น พบว่า 60% ของเชฟ ลงความเห็นว่าอาหารไทยได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2550
กลุ่มลูกค้าอายุน้อยมีความสนใจในอาหารไทย จากตัวเลขเหล่านี้สามารถชี้ชะตาอาหารไทยได้เลยว่ายังเติบโตได้อีกมากในตลาดโลก

อ่านแล้วเสียดายแทนคนไทยไหมครับ....

บริหารด้วย"สมองซีกขวา" กระแสใหม่ซีอีโอ

ศาสตร์ของการบริหารงานธุรกิจยุคใหม่ไม่ใช่ "อำนาจ" หากแต่ขึ้นอยู่กับ "อารมณ์" และ "ความรู้สึก" ที่ใช้สมองซีกขวาสั่งการสะท้อนออกมาในแง่มุมของความคิดเชิงสร้างสรรค์ อย่างมีอีโมชั่น กำลังกลายเป็นหลักคิดใหม่ของซีอีโอเมืองไทย
องค์กรส่วนใหญ่ทั่วโลก เริ่มมองเห็นถึงแนวโน้มของยุค Conceptual Age ซึ่งเป็นยุคที่มุ่งเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ศิลป กระทั่งความสนุกของชีวิต มาใช้ในการดำเนินกิจการและขยายธุรกิจ โดยเฉพาะศาตร์ในการบริหารในแนวใหม่ ที่ก่อตัวขึ้นมาในลักษณะ art businees ที่นำ"ศิลป"เข้ามาผสมผสาน เพื่อดึงศักยภาพสมองซีกขวามาใช้มากขึ้น

Steve Jobs ซีอีโอ ของ "แอปเปิ้ล" เป็นตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกที่ชัดเจนของหลักการบริหาร ที่ดึงมาจากสมองซีกขวา สะท้อนจุดเด่นทางด้านวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รังสรรค์ออกมา โดยแอปเปิ้ลไม่ได้ออกสินค้ามา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่เป็นสินค้าที่ออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า เช่น ไอพอต ,แมคอินทอช เป็นต้น

ซิคเว่ บริเก้ อดีตซีอีโอดีแทค เป็นตัวอย่างซีอีโอที่ใช้หลัก Art Business หรือการใช้ศิลปะทางอารมณ์เข้ามาบริหารงานธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น 1.ศิลปการบริหารงานแบบใหม่ๆ หรือการใช้สีในการสร้างแบรนด์ และการบริการ รวมถึง ตัวสินค้า โดยใช้ 2 สีหลักอย่าง สีฟ้าและสีแดง เช่น ใช้สีแดง สำหรับแฮปปี้ ซึ่งเป็นโทรศัพท์แบบเติมเงิน ใช้สีฟ้าสำหรับบริการรายเดือน โดยจะทาสีดังกล่าวทั้งตึกทั้งลิฟต์

ที่สำคัญเขายังมีภาพลักษณ์ของซีอีโอสมองซีกขวาในการคิดสร้างสรรค์ ด้านอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนกันให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

Created Value ผูกมิตรโชว์ห่วย

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "Leading Towerds the Virtual Century" ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การนำหลักคิดของสมองซีกขวาเข้ามาใช้ โดยสร้างสรรค์งานเชิงกลยุทธ์ อย่างมีศิลปะ เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าเป็นสำคัญ จะทำให้เกิดการกระตุ้นตัดสินใจให้ลูกค้าซื้อสินค้า เพราะหากใช้เพียงสมองซีกซ้าย หรือเหตุและผลเข้าให้ซื้อสินค้าคงไม่ได้ผลมากนัก

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แม็คโครได้รับผลกระทบจากไฮเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติ ทำให้ต้องปรับตัวหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการกลับไปสู่จุดยืนเดิม (Back to Basic) คือการเป็นเจ้าเดียวแห่งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง Cash&Carry

จะสังเกตเห็นว่าแม็คโคร ไม่มีถุงใส่ ขายส่งในระบบสมาชิก ไม่มีบริการจัดส่งสินค้า แต่กลับสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้ลูกค้าเข้ามาใช้จ่ายได้ แม้กระทั่งสินค้าอะไรก็ตามแต่อยู่บนชั้นวางก็ขายได้เมื่อมีแอ็ดโฆษณาแรงๆ เข้ามากระตุ้น

ทำให้แม็คโครจึงหันไปเน้น Created Value สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากการสร้างสรรค์ตั้งแต่การคัดเลือกนำโพรดักส์เข้ามาขาย บริหารต้นทุนที่ดีเพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าราคาประหยัด และแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องที่ครีเอท Emotional Buying มาเพื่อเคียงข้างโชว์ห่วยเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 500,000 ราย

" นี่คือจุดแตกต่างที่ไม่มีใครทำ แม็คโครจึงยึดแนวทางนี้ ด้วยการมุ่งไปที่การบริหารซัพพลายเชน และต้นทุนที่ต่ำ เพื่อจะได้ขายส่งในราคาถูกเคียงข้างโชว์ห่วยไทย เข้ากับสโลแกนใหม่ มิตรแท้โชว์ห่วย " ปัจจุบันแม็คโครให้ความสำคัญกับการทำซีอาร์เอ็ม สร้างสรรค์รูปแบบทำกิจกรรมกับลูกค้า อาทิ โครงการมิตรแท้โชวห่วยเป็นต้น"
วิชา - เมเจอร์ ใช้"ศิลปะ" ปั้นธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดทรรศนะเกี่ยวกับหลักการบริหารงานของอาณาจักรเอ็นเตอร์เทนเมนต์ว่า ศิลปะ กับเหตุผล ต้องนำมาผสมผสานกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การทำธุรกิจต้องวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายให้ออกว่าต้องการอะไร แล้วจะตอบสนองพวกเขาได้อย่างไร เมเจอร์มีการสำรวจตลาดทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม

สมองซีกซ้าย จะทำหน้าที่วิเคราะห์ อ้างอิงถึงเหตุและผลในเชิง Business Model ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่ สร้างสรรค์งานครีเอทีฟอย่างมีศิลปะ ออกแบบตกแต่งสถานที่ รูปแบบโรงภาพยนตร์ สีสัน จะเติมแต่งอะไรลงไป ตลอดจนกิจกรรมแคมเปญต่างๆ ก็ต้องใช้สมองซีกขวา

ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าเป็นลักษณะ Good Test มีศิลปะ ใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล การชมภาพยนตร์ หรือซื้อความบันเทิงจึงมาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผลแน่นอน ทำให้เมเจอร์จะพยายามศึกษาตลาด มองลูกค้าให้ออกว่าต้องการอะไร แบบไหน แล้วจะสร้างสรรค์อย่างมีกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ให้ได้

"ผมชอบเดินทางไปทุกที่ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ และจะมีกล้องดิจิตัลขนาดเล็กติดมือไปถ่ายภาพไม่ต่ำกว่า 500 ภาพ ผมจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอเก็บเข้าไปอยู่ในกล้อง จากนั้นจะพริ้นซ์ภาพออกมา แล้วจะวงไว้เป็น 10ๆ ใบ แจกให้กับฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายสถานที่ มัณฑนากร หรือแม้กระทั่งการตลาด " นายวิชา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า

ในภาพเหล่านั้นจะแฝงไปด้วยไอเดีย สามารถต่อยอดให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้การพัฒนาธุรกิจเกิดขึ้นโดยใช้สมองซีกขวา ที่มาจากการคิดแบบอารมณ์ความรู้สึก ใช้ศิลปะเข้ามาผสมผสาน ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ภาพของเมเจอร์ฯ คือ
Entertain Lifestyle Company เป็นบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์งานเอ็นเตอร์เทนเมนต์ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มให้มากที่สุด
คลื่นลูกที่ 4 พัฒนาสมองซีกขวา

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงกลยุทธ์หนึ่งไม่มีสองด้วยสมองซีกขวาว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการดำรงชีวิตของคนเราโดยพวกนักคิด นักวิชาการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยคลื่นลูกที่1มาจากการที่มนุษย์ลงหลักปักฐาน สู่คลื่นที่2 การเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม มาสู่คลื่นที่ 3 ยุคของข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคลื่นที่ 4 คือ ยุคของสังคมความคิด

การพัฒนาธุรกิจแต่ละยุค จึงไม่ได้ใช้หลักแค่สมองซีกซ้ายมาพัฒนาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการวางระบบ เหตุและผลตามตรรกะเท่านั้น หากแต่ใช้สมองซีกขวาสร้างสรรค์ ครีเอทอย่างมีศิลปะ นำมาผสมผสานการทำธุรกิจอย่างลงตัวจะทำให้เกิดประสิทธิผล ทั้งนี้ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจด้านโฆษณาและสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งการดีไซน์ ออกแบบเว็บ ออกแบบโลโก้ ป้ายชื่อ หัวจดหมายของบริษัท นามบัตรฯลฯ ล้านเป็นสิ่งที่ต้องใช้ศิลปะที่มาจากสมองซีกขวาทั้งสิ้น

ซีอีโอของแม็คโคร และเมเจอร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้หลักการและเหตุผลผสมผสานกับศิลปะ บริหารงานในองค์กร และบริหารงานธุรกิจอย่างลงตัว เพราะวัดผลจากความสำเร็จที่มองเห็น การปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ได้เปรียบ ซึ่งอย่าลืมว่า การเชื่อมโยงธุรกิจด้วยสมองซีกซ้ายและซีกขวาจะทำให้องค์รวมของธุรกิจขับเคลื่อนประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมว่า ในการบริหารโรงเรียน เราน่าจะหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้กันหน่อยนะครับ